ภาคประชาสังคมจี้คสช.สอบทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ 3 พันคัน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-ภาคีเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน ชี้ทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ขสมก. 3 พันคัน มีแค่ 47% เท่านั้นที่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์สามารถใช้งานได้ แถมมีข้อสงสัยมากมาย เหตุใด คสช.ไม่สั่งสอบ
20 สิงหาคม 2557 นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานภาคีเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน เปิดเผยถึงมติของบอร์ด ขสมก. กรณีจัดซื้อรถรถเมล์ตามทีโออาร์ 11นั้น ไม่ให้ความสำคัญกับผู้โดยสารทุกกลุ่ม เนื่องจากจัดรถที่เป็นชานต่ำ(Low floor) เพียง 1,524 คัน จาก 3,183 คัน คิดเป็นร้อยละ 47 เท่านั้นที่ผู้โดยสารในกลุ่ม ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีมีครรภ์จะสามารถใช้ได้โดยสะดวกและปลอดภัย
"ขณะนี้ทราบว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ก็เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการการจัดซื้อนี้ โดยจะใช้วงเงินทั้งสิ้นกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่ารถเมล์เป็นรัฐสวัสดิการที่ควรจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม "นายอุดมโชค กล่าว และว่า ดังนั้นการลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่มาให้บริการในครั้งนี้ ก็ควรให้ประชาชนสามารถใช้งานได้จริง อย่างสะดวกและมีความปลอดภัย ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ
ทั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายฯ อยากให้นำสัญญาฉบับที่ 11 มาทบทวนอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาสัญญาดังกล่าวถูกตีกลับมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ทุกรอบ เพราะมีแนวโน้มถึงความไม่ชอบมาพากล และอาจเอื้อผลประโยชน์กับกลุ่มใด คณะใด คณะหนึ่ง
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าโครงการไม่คุ้มค่าการลงทุน ไม่ตอบสนองการฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่มีหนี้สินสะสมกว่า 9 หมื่นล้านบาท ราคาซื้อรถจำนวน 3,183 คันที่ 13,162 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงค่าอะไหล่ ค่าดอกเบี้ยอีกประมาณ 15,000 ล้านบาทเป็นการปิดบังข้อมูล
สำหรับการกำหนดร่าง TOR นางสาวสารี กล่าวว่า มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ซึ่งถือว่าขัดคำสั่ง คสช. โดยมีการแก้ไขมาถึง 10 ครั้งและตอบข้อโต้แย้งไม่ได้ ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า คสช.ต้องพิจารณายกเลิกโครงการทันที จากนั้นให้นำข้อมูลที่ได้จากผู้เกี่ยวข้องปรับแก้ TOR ใหม่ และเร่งเปิดประมูล เพื่อให้มีรถเมล์ใหม่เข้ามาให้บริการประชาชนโดยเร็ว ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้และกระบวนการจัดซื้อที่โปร่งใส รถได้มาตรฐาน
“รถปรับอากาศ 4.5 ล้านบาทต่อคัน แต่เมื่อรวมค่าซ่อมบำรุงเข้าไปต้องใช้เงินถึง 9 ล้านบาทต่อคัน ขณะที่มีข้อเสนอจากผู้ประกอบการจีน ในรูปแบบจีทูจี ค่ารถรวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปี แล้วอยู่ที่ 4.97 ล้านบาทต่อคันเท่านั้น จึงต้องการให้ คสช.ทบทวนและยุติ TOR ของ ขสมก. หวังว่าสภาพการปกครองพิเศษในขณะนี้จะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ แต่แปลกใจที่คสช.ไม่ได้มีคำสั่งตรวจสอบโครงการนี้เป็นพิเศษทั้งที่มีข้อสงสัยมากมาย”นางสาวสารี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางภาคีเครือข่ายเห็นว่า การเดินหน้าโครงการนี้ที่ทาง ขสมก. อ้างว่าเป็นแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งช่วยพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะให้เกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดี พร้อมสนับสนุน แต่ทั้งนี้การจัดหาทรัพยากรมาใช้งานดังกล่าว ต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับการใช้งานของผู้โดยสาร สามารถเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม มีความปลอดภัย ทั่วถึง 100 เปอร์เซ็นเฉกเช่นประชาชนที่เสียภาษีในประเทศชาติ
ขณะที่ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้ได้โพสต์เฟชบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับแก้ ทีโออาร์ มาแล้วหลายครั้ง เพื่อแก้คำกล่าวหาที่ว่ามีการล็อกสเปกให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าประมูลบางรายก็ตาม แต่ร่าง ทีโออาร์ ฉบับที่ 11 ก็ยังคงมีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บางประการ ดังนี้
1. รถปรับอากาศ จำนวน 1,524 คัน
การกำหนดให้ผู้ประกอบการส่งมอบรถปรับอากาศพื้นต่ำจำนวน 489 คัน จากจำนวนทั้งหมด 1,524 คัน ภายใน 90 วัน หลังจากลงนามในสัญญา โดยอ้างความชำรุดทรุดโทรมของรถที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องยากที่โรงงานประกอบตัวถังในประเทศจะประกอบรถจำนวนนี้ได้ทันภาย 90 วัน ถ้าไม่มีการเตรียมประกอบรถเมล์ปรับอากาศจำนวนนี้ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากต้องประกอบตัวถังในประเทศไทย เพราะ ทีโออาร์ ระบุชัดว่าเหล็กที่ใช้ทำโครงสร้างต้องผลิตในประเทศ แต่คาดว่าจะใช้คัสซีจากประเทศจีน ซึ่งต้องใช้เวลาขนส่งถึงประเทศไทยพร้อมพิธีการทางศุลกากรไม่น้อยกว่า 18 วัน นั่นหมายความว่า จะต้องรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ผู้ประกอบรายใดจะชนะการประมูล
2. รถธรรมดา หรือรถร้อน จำนวน 1,659 คัน
ทีโออาร์ ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นรถโดยสารพื้นต่ำ แต่กำหนดว่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขึ้นลงของคนพิการที่ใช้ วีลแชร์ จะเป็นลิฟท์หรือทางลาดก็ได้ สำหรับคนทั่วไปคงคิดว่า ทีโออาร์ นี้เปิดกว้าง และโปร่งใส แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีผู้ประกอบการรายใดจะเสนอรถโดยสารพื้นต่ำเข้าประมูลแน่นอน เพราะราคาคัสซีของรถโดยสารพื้นต่ำแพงกว่าคัสซีพื้นสูงมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจะเสนอรถโดยสารพื้นสูงเข้าประมูล ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งนำคัสซีรถบรรทุกดัดแปลงเข้าประมูล ส่งผลให้คนพิการและคนชราที่ใช้ วีลแชร์ ต้องขึ้นรถด้วยลิฟท์ ทั้งนี้ การติดตั้งลิฟท์ในรถเมล์พื้นสูงไม่ได้ตอบโจทย์ของคนพิการ เพราะในทางปฏิบัติต้องใช้เวลามาก คนพิการจะถูกตำหนิว่าทำให้รถติด ด้วยเหตุนี้ ทีโออาร์ จึงควรระบุให้ใช้รถเมล์พื้นต่ำซึ่งมีทางลาดขึ้นลงรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ เด็ก สตรี คนชรา และหญิงตั้งครรภ์
ขอบคุณภาพจากเฟชบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์