"แบเฮาะ"โชว์งานสภา จี้ คสช.แก้ราคายาง - เพิ่มงบการข่าว
แม้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคนี้จะขาดแคลนตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือมีน้อยยิ่งกว่าน้อย แต่ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล หรือที่คนพื้นที่รู้จักกันในนาม "แบเฮาะ" อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ก็ได้แสดงบทบาทลุกขึ้นอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วาระแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ส.ค.57
เขาเป็นสมาชิก สนช. 1 ใน 17 คน จากจำนวนกว่า 190 คนที่ลงชื่อขออภิปรายงบประมาณที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินยามนี้ เป็นผู้เสนอและชี้แจงต่อสภา
เวลา 10 นาทีที่ นายนิพนธ์ ลุกขึ้นอภิปราย มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนๆ
"โครงการต่างๆ ในพื้นที่มีมากมาย เยอะเหลือเกิน พบข้อบกพร่องมาตลอด 10 ปีที่เกิดปัญหาภาคใต้ เราจะต้องทำให้เงินงบประมาณในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เป็นงบฟังก์ชัน (งบปฏิบัติการ หรืองบโครงการ) สามารถทำงานให้เป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเจ้ากระทรวงแต่ละกระทรวง ปลัดกระทรวงแต่ละคน ต้องเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาภาคใต้มันเป็นวาระแห่งชาติ จะทำอย่างไรให้งบเหล่านี้ไปสู่พื้นที่ และไม่ให้การทำงานมีลักษณะต่างคนต่างทำ" นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่ง
อดีตผู้ว่าฯปัตตานี ซึ่งเป็นคนพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับผิดชอบงานอยู่ แต่ก็อยากให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงหมั่นลงไปในพื้นที่ อยากฝากหัวหน้าส่วนราชการให้ลงไประดมความเห็นในจังหวัด ระดมตัวแทนทุกหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะหน่วยตัวเอง เพื่อให้ทำงานร่วมกัน และดึงคนในพื้นที่ให้ร่วมกันทำงานมากขึ้น
"การแก้ปัญหาความไม่สงบมีหลายเรื่อง ต้องทำงานควบคู่กันไป ทั้งแก้ปัญหาการก่อเหตุรุนแรง เศรษฐกิจ แก้ปัญหาสังคม โครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะที่คนภาคใต้ทำมานานแล้ว คือ ยางพารา ราคาลดลงมาก จะทำอย่างไร"
"ส่วนการแก้ปัญหาความไม่สงบ การข่าวเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ กลับให้ความสำคัญเรื่องการข่าวน้อย การจะได้ข่าวต้องใช้งบประมาณ ไม่ว่าในหรือต่างประเทศ การต่อสู้ของกลุ่มก่อความไม่สงบเป็นสงครามแบบกองโจร ต้องทำงานการข่าว โดยใช้กำลังประจำถิ่นให้มากยิ่งขึ้น"
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ประชาชนในพื้นที่รู้จักอยู่ 3 ที่ซึ่งต้องไปติดต่อราชการเป็นประจำ หนึ่ง คือ ที่ว่าการอำเภอ สอง คือ สถานีตำรวจ และสาม คือ โรงพยาบาล ถ้าส่วนราชการเหล่านี้ให้บริการดีๆ มีระบบวันสต็อปเซอร์วิส (ให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ) จะลดปัญหาในพื้นที่ลงครึ่งหนึ่ง
"ผมอยากเห็นโรงงานใหญ่ๆ ที่เป็นโรงงานผลิตฮาลาลเพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาความรุนแรง ฉะนั้นรัฐต้องลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สร้างถนน เดินสายไฟฟ้าให้ ถ้านักลงทุนสนใจมาลงทุนเปิดโรงงาน คนก็จะมีงานทำ ทุกวันนี้คนสามจังหวัดไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านเป็นแสน ทำอย่างไรจะดึงคนเหล่านี้กลับมา น่าจะสร้างโรงงานที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ใช้ศักยภาพของคนสามจังหวัดสื่อความเข้าใจกับมุสลิมทั่วโลกและโลกอาหรับ"
เขายังตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เรื่องการศึกษาในระบบยังไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะยังมีการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) รองรับ แต่เด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้อยู่ในระบบจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ ใครเป็นเจ้าภาพ หรือกลุ่มที่ไปเรียนทางศาสนาแล้วไม่มีงานรองรับ ใครจะรับผิดชอบ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช. ขณะอภิปรายงบประมาณในสภา