หวั่นไทยเป็นฮับ"ตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์"นักวิชาการเสนอออกกฎหมายให้รัดกุม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถกปัญหาอุ้มบุญอย่างไรไม่กระทบสิทธิ ด้านนักวิชาการหวั่นไทยเป็นฮับการตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์เสนอออกกฎหมายรัดกุม คุ้มครองสิทธิหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์วอนแพทย์ยึดหลึกจริยธรรมในวิชาชีพเพื่อลดปัญหา
19 ส.ค. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีสาธารณะ "อุ้มบุญอย่างไร ไม่กระทบสิทธิ" ณ ห้องประชุมบีบี 203 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประมวล วีรุตเสน สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้เราคงต้องมาทบทวนว่า ชายหรือหญิงที่ไม่ต้องการแต่งงานแต่ต้องการที่จะมีลูกผ่านวิธีการอุ้มบุญนั้นสามารถที่จะทำได้หรือไม่ หรือชายรักชาย หญิงรักหญิงที่ผ่านการแปลงเพศมีสิทธิที่จะมีลูกด้วยวิธีการอุ้มบุญตามกฎหมายหรือไม่ ที่สำคัญปัญหาเรื่องข้อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแพทย์ในเรื่องเทคโนโลยีมีปัญหามาตั้งแต่ช่วงปี 2540 แม้จะมีข้อบังคับของแพทยสภาแต่ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นหากตัวแพทย์เองคำนึงถึงจริยธรรมและปฏิบัติตามข้อบังคับ ปัญหาในเรื่องการอุ้มบุญในแง่เชิงพาณิชย์คงจะไม่เกิดขึ้น
"มีหลายฝ่ายที่มองว่า ข้อบังคับนั้นไม่ใช่กฎหมายเพราะไม่มีบทลงโทษ ซึ่งกฎระเบียบและข้อบังคับเป็นสิ่งที่ทุกวิชาชีพพึงปฏิบัติโดยเฉพาะคนที่เป็นแพทย์"
ด้านดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับประเทศที่อนุญาตให้มีกฎหมายอุ้มบุญเชิงพาณิชย์นั้น มีไม่กี่ประเทศในโลก เช่น อินเดีย ยูเครน รัสเซีย ทำให้ประเทศที่มีความพร้อมในการจ้างตั้งครรภ์อย่างประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย ก็จะมองหาประเทศเหล่านี้ ซึ่งประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์สูงที่สุด และอาจจะส่งผลให้เมืองไทยกลายเป็นฮับในการตั้งคภรรภ์เชิงพาณิชย์ ดังนั้นจึงมีแนวคิดอยู่ 2 แนวคิด คือแนวคิดแบบเสรีมองว่า การจ้างคนอื่นที่เป็นคนยากจนรับจ้างตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ผู้หญิงตัดสินใจเองได้โดยที่รัฐไม่ต้องมาแทรกแซง และการจะห้ามผู้หญิงใช้เนื้อตัวร่างกายในการตั้งครรภ์ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งก็มองว่า การรับจ้างตั้งครรภ์เป็นการกดขี่ผู้หญิงและจะต่อต้านไม่ให้มีกฎหมายตั้งครรภ์แทน
“กระแสขณะนี้ทำให้การตั้งครรภ์แทน ถูกมองเหมือนการตั้งครรภ์ไม่ใช่เจตจำนงที่แท้จริง ถ้าเราอิงไปตามกระแสก็จะทำให้ผู้ที่มีบุตรยากอาจไม่มีโอกาสที่จะมีบุตร ซึ่งในการออกกฎหมายจะต้องดูบริบทรอบข้าง คำนึงถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น และกฎหมายที่ออกมาจะต้องคุ้มครองผู้หญิงไม่ให้เกิดการถูกละเมิดด้วย”
ขณะที่นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกฎหมายต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ความเป็นพ่อแม่ต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าของโครโมโซม และปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์ที่จริงไม่ใช่การบริการ การที่มาหาแพทย์เพื่อต้องการให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนจะต้องมีความเป็นธรรมต้องมีความเป็นธรรม ซึ่งในตัวกฎหมายจำเป็นจะต้องมีการบัญญัติหน้าที่รับผิดชอบระหว่างกันเพิ่มเข้าไปด้วย
"การใช้เทคโนโลยีตั้งครรภ์แทนในตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ...ระบุว่า ต้องหาคนรู้จักหรือเป็นญาติกัน แต่สมัยนี้มีการโฆษณาหาคนมาตั้งครรภ์จึงทำให้เกิดปัญหา และกฎหมายไม่ได้มีบทลงโทษดังนั้นอาจจะต้องเพิ่มบทลงโทษในส่วนนี้ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายใดๆ ที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติและเป็นธรรมด้วย"
ส่วนนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ หากมีการประกาศใช้ก่อนหน้านี้ กรณีปัญหาการอุ้มบุญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะกฎหมายได้ดักทางเอาไว้หมดแล้ว แต่วันนี้ยังเรายังใช้แค่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องสิทธิบิดา และมารดา เท่านั้นที่กำหนดให้มารดาที่ชอบด้วยกฎหมายคือคนที่คลอดเด็กออกมาไม่ใช่เจ้าของไข่เท่านั้น
“ความจริงเรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการบังคับใช้ กฎหมายถ้าไม่นำมาบังคับใช้อย่างจริงจังก็ไม่เกิดผลเราจะบอกว่ากฎหมายใช้ไม่ได้ผลแล้วให้ยกเลิก เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีกฎกติกาเราจะอยู่อย่างไร ดังนั้นกฎหมายเรื่องการอุ้มบุญนั้นถ้านำมาบังคับใช้อย่างจริงจังเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา"นายสมชาย กล่าว และว่า หากบังคับใช้ไม่ได้ผล คนที่ต้องถูกลงโทษหรือจัดการก็คือคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ส่วนเรื่องพิจารณาให้กฎหมายมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นนั้นจะพยายามขับเคลื่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติต่อไป