‘นักวิชาการ’ ชงรื้อทิ้งมาตรา 7 กม.ป่าไม้ ยันอุปสรรคขวางปลูกไม้ยืนต้นในไทย
เครือข่ายภาคประชาสังคมจี้ คสช.แก้ไขข้อจำกัดมาตรา 7 กม.ป่าไม้ ให้ถือครองไม้หวงห้าม 17 ชนิดในที่ดินของเอกชนได้ นักวิชาการชี้หากไม่เเก้จะบ่อนทำลายความหลากหลายพันธุกรรม เรียกร้อง สปช.รื้อทิ้งทั้งมาตรา หันมาส่งเสริมการปลูกแทน
วันที่ 19 สิงหาคม 2557 เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม (คปปธ.) จัดเสวนา ‘ไม้หวงห้าม:รักษาหรือทำลายป่า’ ณ ห้องประชุมพิรุณ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ส.มก.) กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว กล่าวถึงมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 ระบุให้ไม้สักและไม้ยางไม่ว่าจะขึ้นที่ใดในราชอาณาจักรให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นในไทย แต่ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 106/2557 เพิ่มไม้หวงห้ามฯ จาก 2 ชนิด เป็น 17 ชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัง ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขา ทำให้ชาวบ้านหลายคนที่มีไม้เหล่านี้ในที่ดินกังวลจะถูกจับกุม
“หากไทยยังใช้มาตรา 7 จากคำสั่ง 106/2557 จะทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดน้อยลงไป และต่อให้เพิ่มชนิดไม้หวงห้ามฯ มากเท่าไหร่ ความถดถอยของการส่งเสริมปลูกป่าจะมากขึ้น” นายกสมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว กล่าว และว่าจากการศึกษาความต้องการใช้ไม้พะยูงในจีนและประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ช่วยลดคดีความ ฉะนั้นทางออกควรส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นด้วยกลไกต่าง ๆ
ผศ.ดร.นิคม จึงเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เร่งยกเลิกการใช้มาตรา 7 และขอให้เพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นใน พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 พร้อมเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.การส่งเสริมสวนป่า พ.ศ.2535 เพื่อให้มีการส่งเสริมอย่างแท้จริงแทนการควบคุม ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมพร้อมเป็นฐานผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นความต้องการของโลกในอนาคต แต่เหตุไฉนจึงจับด้ายมามัดตราสังมือตัวเองไว้ห้ามชาวบ้านปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินถือครองกรรมสิทธิ์
ด้านนายพงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ 106/2557 สร้างความตลกและปัญหาให้เกิดขึ้น เพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศชนิดไม้หวงห้ามเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการทำลายและละเมิดสิทธิของประชาชนให้ต้องรับความผิด แทนที่จะมีมาตรการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าในอนาคต
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าผู้คิดนโยบายดังกล่าวเป็นกลุ่มอำนาจนิยมชอบบังคับและอนุญาตตามกรอบกฎหมายเดิม ทำให้การจัดการป่าไม้ของประเทศล้าหลัง ฉะนั้นการที่ คสช.เพิ่มชนิดไม้หวงห้ามขึ้นจึงไม่อาจทำให้เกิดการรักษาสายพันธุ์ได้
“ตั้งแต่มาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มีผลบังคับใช้ ไม่เคยเห็นการปลูกไม้สักในไทยอีกเลย ยกเว้นของหน่วยงานรัฐ กระทั่งปี 2535 มีการส่งเสริมให้คนปลูกมากขึ้นก็ปรากฏว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ” ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ กล่าว และว่าจากเดิมรัฐให้เงินแก่ชาวบ้านปลูกไม้ยืนต้นไร่ละ 3,000 บาท จำนวน 2.5 ล้านไร่ ผ่านไป 15 ปี ต้นไม้กลับถูกโค่นทิ้งเพื่อปลูกไร่ข้าวโพดแทน คงเหลือพื้นที่ส่งเสริมการปลูกเพียง 5 แสนไร่ จึงตั้งคำถามอาจเป็นเพราะไทยยังใช้มาตรา 7 อยู่ ทำให้คนไม่มีแรงจูงใจในการปลูกและดูแลรักษา
ขณะที่นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 106/2557 บ่งบอกถึงผู้กำหนดนโยบายไม่มีการพัฒนาความคิด มุ่งสงวนอำนาจของรัฐ แต่ไม่กระจายอำนาจ ดังนั้นจึงไม่ควรออกกฎหมายเพิ่มชนิดไม้หวงห้ามเช่นนี้ออกมา อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้ คสช.หูเบาฟังแต่เสียงของข้าราชการ แต่ควรส่งผู้แทนมานั่งฟังความต้องการของประชาชนด้วย
“ที่ดิน ส.ป.ก.ถือเป็นเขตป่าเศรษฐกิจที่มีผลประโยชน์อยู่มากมาย กระทั่งปัจจุบันสามารถกระจายการถือครองที่ดินได้ 3.5 ล้านครัวเรือน จนเกิดความมั่นคงและไม่เคยมีปัญหากับรัฐ ยกเว้นอาจมีการขายต่อบ้าง แต่กรมป่าไม้อยากทวงผืนป่าคืน ฉะนั้นจึงเห็นว่าการประกาศคำสั่งดังกล่าวอาจเป็นเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐและสร้างอำนาจให้มากขึ้น”
อดีตรองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อว่า พื้นที่ ส.ป.ก.ถูกถือครองจากชาวบ้านกว่า 20 ปี จึงยากที่จะทวงคืนได้ และต่างมีความต้องการปลูกต้นไม้ เพียงแต่เมื่อปลูกแล้วก็มักถูกจับกุมหรือก่อกวน จึงเรียกร้องให้รัฐส่งเสริมการปลูกต้นไม้ โดยสนับสนุนเงินให้กู้ยืมโดยไม่เสียดอกเบี้ย ดังเช่น ธนาคารต้นไม้ ซึ่งเชื่อว่าชาวบ้านจะให้ความร่วมมือ
นายเกริก มีมุ่งกิจ เกษตรกร จ.สระแก้ว กล่าวว่า คนวัยชรา 70 ปี จะมีใครอยากมาดูแล ฉะนั้นเราจึงอยากมีบำเหน็จบำนาญของตัวเอง ช่วยให้หนี้สินหมดไปด้วยไม้มีคุณค่าและให้ความร่มรื่น พร้อมตั้งคำถามว่าจะดีหรือไม่หากปลูกต้นไม้ในที่ดินตัวเอง เพื่อลูกเรียนจบได้มีวัสดุในการสร้างบ้าน สิ่งเหล่านี้คือความฝันของเกษตรกร ทั้งนี้ หลักคิดของชาวบ้านมองการอนุรักษ์ คือ การใช้ไม้อย่างเกิดประโยชน์
“เมื่อมีคำสั่ง คสช.ที่ 106/2557 ออกมา สร้างความรู้สึกหมดหวัง เพราะวันดีคืนดีกำลังชื่นชมต้นไม้ก็ต้องมาห่อเหี่ยว สะเทือนใจกับคำสั่งนี้ เรารู้สึกว่ามีของผิดกฎหมายในที่ดินส่วนตัว สิ่งที่คิดฝันไว้กำลังถูกทำลายโดยสิ้นเชิง” เกษตรกร จ.สระแก้ว กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เครือข่ายฯ มีข้อเสนอให้ คสช.เร่งพิจารณายกเลิกข้อจำกัดเรื่องการมีไม้หวงห้าม โดยให้แก้ไขคำในมาตรา 7 ดังนี้ “ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร เว้นแต่ขึ้นในที่ดินของเอกชน...” ซึ่งที่ที่ดินของเอกชน ในความหมาย คือ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
นอกจากนี้ยังมีที่ดินที่มีหนังสือทางราชการรับรองว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในระยะเวลาที่อาจขอรับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากได้ครองครองและเข้าทำกินในที่ดินดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพไว้แล้ว และที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีหลักฐานการอนุญาต การเช่า หรือเช่าซื้อ .
คลิกอ่านฉบับเต็ม:ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557