คำร้องอดีตขรก.ขอความเป็นธรรม คสช.ปมโกงสอบนายอำเภอ (ฉบับเต็ม)
“…คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสทั้งตนเอง ครอบครัว และผู้ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งความเสียหายและความสูญเสียนี้ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้ เพราะนอกจากสิทธิสวัสดิการทางราชการ สิทธิทางสังคม ทางการเงิน และความเชื่อถือ เชื่อมั่นทางสังคมและผู้คน จากมติชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่ยุติธรรมทำให้เสื่อเสียซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของข้าราชการจากกรณีดังกล่าว…”
หมายเหตุ www.isranews.org : เป็นหนังสือเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 119 คน ที่ร้องขอความเป็นธรรม กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา ฐานทุจริตการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ เมื่อปี 2552 ต่อมาภายหลังได้ถูกอธิบดีกรมการปกครองไล่ออกจากราชการ
(อ่านประกอบ : อดีตขรก.ขอความเป็นธรรม คสช. ปมป.ป.ช.ฟันโกงสอบนายอำเภอปี’52)
----
ข้าพเจ้ากับพวกรวม 119 คน ซึ่งจบการศึกษาอบรมหลักสูตรโรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 68 รุ่นที่ 69 และรุ่นที่ 70 ปีงบประมาณ 2552 มีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส จากกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามคำชี้มูลดังกล่าว
ข้าพเจ้ากับพวก ขอกราบเรียนข้อเท็จจริงความเป็นมา และสาเหตุปัญหาของเรื่องดังกล่าวด้วยความจริง ดังนี้
1.เรื่องสืบเนื่องจากเมื่อปี 2552 กรมการปกครองมีประกาศเรื่องการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอปีงบประมาณ 2552 (ประกาศลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552) ซึ่งข้าพเจ้ากับพวก เป็นผู้มีคุณสมบัติตามประกาศ จึงสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามสิทธิ์ และเวลาต่อมาได้มีประกาศรับรองคุณสมบัติของเข้าพเจ้ากับพวกว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนตรงตามเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศฯ
จากนั้นกรมการปกครองประกาศกำหนดให้มีการทดสอบความรู้ ในวันที่ 22 มีนาคม 2552 ที่อิมแพคเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีการทดสอบข้อเขียนอัตนัยและปรนัยทั้งภาคเช้าและบ่าย รวม 1 วัน จากนั้นกรมการปกครองได้ประกาศผลการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ประจำปีงบประมาณ 2552 ลงวันที่ 23 เมษายน 2552 และกรมการปกครองยังได้จัดแบ่งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกออกเป็น 3 รุ่น คือรุ่นที่ 69 – 70
ข้าพเจ้ากับพวกรวม 119 คน เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์เรียบร้อยถูกต้อง และเดินทางไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมที่วิทยาลัยการปกครองตามกำหนดระหว่างการศึกษาอบรมนักเรียนทั้ง 3 รุ่น ได้แยกย้ายกันฝึกศึกษาอบรมตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่วิทยาลัยการปกครองกำหนด ทั้งการศึกษาอบรม ณ สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย และการฝึกศึกษาอบรมนอกสถานที่ตั้งจนจบหลักสูตรการศึกษาอบรม โดยกรมการปกครองประกาศรับรองผลการผ่านเป็นผู้ฝึกศึกษาอบรมว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้องครบถ้วน
2.มูลเหตุปัญหาของเรื่องที่ถูกกล่าวหา ขอกราบเรียนข้อเท็จจริงว่า เกิดจากความขัดแย้งทางการบริหารองค์กรอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น การบริหารงบประมาณการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ที่ฝ่ายการเมืองสั่งการให้เปลี่ยนแปลง TOR การรับรองบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยที่ฝ่ายการเมืองสั่งให้รับรองบัตรสมาร์ทเพื่อเอื้อประโยชน์กับผู้รับจ้างบางราย และการจัดซื้อรถยนต์กระบะสำหรับมอบให้ที่ทำการปกครองอำเภอทั่วประเทศใช้ประโยชน์ที่ฝ่ายการเมืองสั่งให้เปลี่ยนเป็นเช่ารถยนต์ดังกล่าว จึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการบริหารองค์กรระหว่างฝ่ายการเมือง ผู้มีอำนาจบริหารกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองขณะนั้น
3.ปัญหาเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกข้าราชการเข้าศึกษาอบรมนักเรียนนายอำเภอ จึงเริ่มจากความขัดแย้งตามข้อ 2 เกิดกรณีมีบัตรสนเท่ห์และหนังสือร้องเรียน เมื่อปี 2552 ว่าฝ่ายการเมือง โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้น และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้น และข้าราชการระดับสูงกรมการปกครองเรียกรับเงินรายละ 7 – 8 แสนบาท เพื่อช่วยเหลือผู้เข้าสอบคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอประจำปี 2552
แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. กลับไม่พบการกระทำผิดในข้อร้องเรียนนี้ และวินิจฉํยว่าไม่มีพบว่ามีฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้องเชื่อมโยงการกระทำความผิดใด ๆ และให้ข้อหาตกไป ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรากฏข้อเท็จจริงตรวจสอบได้จากสำนวนการไต่สวนและมติชี้มูลความผิดจำนวนหมื่นกว่าหน้า ข้าพเจ้ากับพวกได้ขอคัดสำเนาจากศาลจังหวัดนนทบุรี มาตรวจสอบรายละเอียดหลังจากถูกชี้มูลความผิดแล้ว จึงทราบว่าความไม่ถูกต้องเริ่มตั้งแต่การรับเรื่องเพื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นการรับเรื่องจากบัตรสนเท่ห์และข่าวหนังสือพิมพ์
การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย (อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อกล่าวหา และมีความสัมพันธ์กับผู้ถูกกล่าวหาบางกลุ่มในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน โดยเฉพาะคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งเป็นผู้อาจถูกคัดค้านว่าไม่เหมาะสม
แม้ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบการไต่สวนคดีนี้ ให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายวิชัย วิวิตเสวี เป็นผู้ร่วมกับรับผิดชอบสำนวนคดีต่อเนื่องจนแล้วเสร็จการดำเนินการไต่สวนคดี และเวลาต่อมาก็ปรากฏชัดเจนตามสำนวนคดีว่า นายประสาท พงษ์ศิวาภัย ได้ยื่นหนังสือถอนตัวไม่เข้าร่วมลงมติชี้มูลความผิดเพียง 1 เดือน และในกระบวนการไต่สวนคณะเจ้าหน้าที่ช่วยไต่สวนได้ดำเนินการการขัดต่อกฎหมายหลายประการ ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหาที่ขัดต่อหลักพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา
4.ข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีรับฟังได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มุ่งเน้นการไต่สวนเพื่อเอาผิดบุคคล และกลุ่มบุคคลเป็นหลักมิได้มุ่งไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนี้
4.1 การตั้งประเด็นการไต่สวนยกเรื่องกรณีการเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบรายละ 7 – 8 แสนบาท ของฝ่ายการเมืองและข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย ผลการไต่สวนไม่อาจรับฟังได้ว่ามีผู้ใดกระทำความผิดอย่างไร คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับด่วนสรุปในประเด็นนี้อย่างน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า ไม่มีความเชื่อมโยงการกระทำผิดใด ๆ ถึงฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงว่า มีการเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือผู้เข้าสอบให้สอบได้
4.2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปลี่ยนประเด็นการไต่สวนใหม่ เป็นการยกเอาคำกล่าวอ้างจากผู้ที่สารภาพว่า เป็นผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้ (นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง ผู้ได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบการดำเนินการสอบคัดเลือกในทุกขั้นตอน ทั้งโดยตำแหน่งหน้าที่และ โดยคำสั่งกรมการปกครอง) ว่าฝ่ายการเมืองได้ส่งมอบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 รายชื่อ เป็นกระดาษเอ 4 ให้อธิบดีกรมการปกครองหาทางช่วยเหลือ โดยยกเอานายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรมการปกครอง เป็นตัวเชื่อมโยงว่า ไปรับบัญชีรายชื่อ 150 คน ดังกล่าว จากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มาส่งมอบให้นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง
ซึ่งผลการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ข้อสรุปเป็นยุติว่า บัญชีรายชื่อ 150 ดังกล่าว มีอยู่จริงหรือไม่ และเหตุใดฝ่ายการเมืองจึงส่งเอกสารดังกล่าวให้ฝ่ายข้าราชการประจำระดับสูงของกรมการปกครอง ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งให้พิจารณาดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อพิรุธเคลือบแคลงสงสัย รวมทั้งนายวุฒิชัย เสาวโกมุท ได้กล่าวอ้างในคำให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพียงว่า ตนเองได้ทำลายบัญชีรายชื่อ 150 คนดังกล่าว รวมทั้งลบข้อมูลที่เกี่ยวข้องทิ้งไปหมดแล้ว ประเด็นการไต่สวนนี้จึงไม่สามารถได้ข้อสรุปใด ๆ
4.3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปลี่ยนประเด็นการไต่สวนใหม่ มุ่งเน้นไปที่จะเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบอัตนัย ซึ่งมีอธิบดีกรมการปกครองเป็นประธานคณะกรรมการ มีนายสำราญ ตันเรืองศรี, นายวุฒิชัย เสาวโกมุท และกรรมการอื่นรวมเป็นจำนวน 6 คน เป็นคณะกรรมการ โดยตั้งสมมติฐานว่า คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบได้กระทำการทุจริตในขั้นตอนการคัดเลือกข้อสอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้มีรายชื่อตามบัญชี 150 คน เป็นผู้สอบได้ โดยการคัดเลือกข้อสอบที่ออกโดยนายสำราญ ตันเรืองศรี และนายวุฒิชัย เสาวโกมุท แต่จากการไต่สวนกลับไม่พบว่า คณะกรรมการดังกล่าวได้ทำการทุจริตหรือกระทำผิดประการใด
4.4 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เปลี่ยนประเด็นการไต่สวนใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ข้าราชการผู้เข้าสอบที่เป็นกลุ่มผู้ผ่านการคัดเลือกแล้วว่า เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด โดยยกเอาเหตุการณ์เปลี่ยนกระดาษสมุดคำตอบ โดยอ้างว่ามีการเขียนคำตอบขึ้นใหม่นอกห้องสอบเพื่อส่งมอบให้นายวุฒิชัย เสาวโกมุท นำไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขการคัดเลือกที่เป็นผู้ผ่านการสอบคัดเลือก และได้เข้าศึกษาอบรมตามหลักสูตรแล้ว
ทั้งนี้อ้างเหตุเชื่อมโยงว่าอธิบดีกรมปกครอง สั่งการผ่านนายวุฒิชัย เสาวโกมุท ไปยังประธานและเลขานุการนักเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 68 – 70 ให้ประสานกับนักเรียนนายอำเภอทั้ง 3 รุ่น ที่อยู่ระหว่างการศึกษาอบรมไปดำเนินการเขียนกระดาษคำตอบใหม่ แล้วรวบรวมส่งกลับมามอบให้นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ดำเนินการแก้ไขกระดาษคำตอบ ประกอบกับคำรับสารภาพว่าเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขกระดาษคำตอบของนายวุฒิชัย เสาวโกมุท และสรุปตัดตอนข้อเท็จจริงคำให้การของนักเรียนนายอำเภอที่รับว่าได้เขียนกระดาษคำตอบ
ซึ่งความจริงแล้วนักเรียน 119 คน ที่ถูกกล่าวหาและชี้มูลความผิดได้ให้การยืนยันและมีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่า ได้รับรองสมุดกระดาษคำตอบของตนเองว่า เป็นสมุดกระดาษคำตอบที่เขียนข้อสอบที่เมืองทองธานีเพียงครั้งเดียว และเป็นสมุดกระดาษคำตอบที่ได้ส่งมอบให้คณะกรรมการผู้ควบคุมห้องสอบ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552
ซึ่งจากข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีดังปรากฏชัดเจนว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะเจ้าหน้าที่ช่วยไต่สวนดำเนินการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาโดยมิชอบด้วยกฎหมายและประมวลจริยธรรมของคณะกรรมการไต่สวน เพราะได้ใช้วิธีการไต่สวนอย่างมีอคติ ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นกลาง โดยมุ่งเน้นจะให้ได้ข้อสรุปคำให้การที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ไต่สวนเพื่อมุ่งเอาผิดผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความจริง และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหา รวมทั้งใช้วิธีการข่มขู่ ชักจูง ให้สัญญาและหลอกลวงให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การในการสนับสนุนให้ผลการไต่สวนเป็นไปในแนวทางที่ผู้ไต่สวนต้องการ
จนท้ายที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดข้าพเจ้ากับพวกว่า เป็นผู้กระทำความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างไม่เป็นธรรม จนเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามมติคำชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสทั้งตนเอง ครอบครัว และผู้ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งความเสียหายและความสูญเสียนี้ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้ เพราะนอกจากสิทธิสวัสดิการทางราชการ สิทธิทางสังคม ทางการเงิน และความเชื่อถือ เชื่อมั่นทางสังคมและผู้คน จากมติชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ไม่ยุติธรรมทำให้เสื่อเสียซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีของข้าราชการจากกรณีดังกล่าว
ด้วยความจริงดังที่กราบเรียนข้างต้น ข้าพเจ้ากับพวกรวม 119 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งปลัดอำเภอ และเจ้าพนักงานปกครองที่ปฏิบัติงานรับใช้ประชาชนและประเทศชาติในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากความไม่เป็นธรรมนี้
ขอความกรุณาเมตตาท่านได้โปรดพิจารณาดำเนินการยกเลิกคำสั่งไล่ออกจากราชการ จำนวน 119 คน และขอได้โปรดมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการตามเดิม เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและรับใช้ประชาชนเพื่อสนองคุณแผ่นดินต่อไป
อ่านประกอบ :
“เหมือนตายทั้งเป็น” ฟังเสียงอดีต ขรก.ถูกป.ป.ช.ฟันโกงสอบฯร้องคสช.
ป.ป.ช.มติเอกฉันท์! ฟัน “วงศ์ศักดิ์” คดีโกงสอบ รร.นายอำเภอ
ดูเหตุผล ป.ป.ช.ฟันข้อหาหนัก “วงศ์ศักดิ์” คดีโกงสอบ รร.นายอำเภอ
เปิดหมด 122 รายชื่อ ป.ป.ช.ฟันทุจริตสอบ"นอภ."-ส่งอัยการฟ้องอาญาแล้ว