สุ่มตรวจผัก-ผลไม้ พบสารตกค้างเกิน 50% 'ส้มสายน้ำผึ้ง' ปนเปื้อนมากสุด
Thai PAN เผยผลสุ่มตรวจผักผลไม้ท้องตลาดพบมีสารเคมีตกค้างเกิน 50% ชนิดติดฉลากเครื่องหมาย Q มากสุด 'ส้มสายน้ำผึ้ง' อันดับ 1 เกินค่ามาตรฐาน 100% ร้อง มกอช.-อย.ยกระดับระบบปลอดภัยอาหารทันปี 58
วันที่ 18 สิงหาคม 2557 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดงานแถลงข่าว “เปิดผลทดสอบคุณภาพผัก ผลไม้ ประจำปี 2557 ตรามาตรฐานสินค้าเกษตรเชื่อถือได้แค่ไหน” ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร กล่าวว่า การสุ่มตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปี พ.ศ. 2557 เป็นการสุ่มตรวจในผักผลไม้เพื่อเฝ้าระวัง 2 รอบ คือเดือนมีนาคมและพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสุ่มตรวจจาก 2 แหล่งหลักได้แก่ ห้างค้าปลีกและตลาดผักทั่วไปในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร และสงขลา ซึ่งชนิดผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว พริก ผักชี กะเพรา ส้ม สตรอเบอร์รี่ แอปเปิล ฝรั่ง และแตงโม โดยได้นำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ SGS ซึ่งได้รับ ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเพิ่มการวิเคราะห์สารกำจัดโรคพืชในส้ม แอปเปิล และสตรอเบอร์รี่
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ว่า ผักผลไม้เกินครึ่งที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปมีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 55.9 % แต่เฉพาะที่มีการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน Maximum Residue Limit หรือ MRL ของไทย มีมากถึง 46.6 % เเละเมื่อจำเเนกตามแหล่งจำหน่ายเห็นได้ว่าผักที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด คือ ผักผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐาน Q
"ภาพรวมของผัก Q พบการตกค้างของสารเคมี 87.5% และมีจำนวนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRL มากถึง 62.5 %" ผู้ประสานงานฯ กล่าว เเละว่าผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีกตกเกณฑ์รองลงมาอยู่ที่ 53.3 % และแหล่งจำหน่ายที่ตกมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดคือ ตลาด อยู่ที่ 40.0 %
เมื่อจำเเนกตามชนิดผักผลไม้ พบว่า ชนิดผลผลิตที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่า MRL มากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้งตกเกณฑ์ 100 % รองลงมา ได้แก่ ฝรั่ง 69.2% แอปเปิล 58.3% คะน้า 53.8% กะเพรา สตรอเบอร์รี่ และส้มจีน ชนิดละ 50% ถั่วฝักยาว 42.9% ผักชี 36.4% แตงโม 15.4% และพริกแดง 8.3%
“มาตรฐาน Q ไม่ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจเลยว่าผักผลไม้จะไม่มีสารตกค้าง ในทางกลับกันการที่มีมาตรฐานQ กลับบ่งบอกว่ามีสารเคมีตกค้างเยอะกว่าผักที่ขายตามท้องตลาดด้วยซ้ำ” นางสาวปรกชล กล่าว
ขณะที่นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาที่พบนอกเหนือไปจากเรื่องสารเคมีตกค้าง คือ ปัญหาของฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเลขรหัสใต้เครื่องหมาย Q ไม่ถูกต้องและไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดปัญหาการตรวจสอบข้อมูลของย้อนหลัง จึงถือเป็นปัญหาในเรื่องของกระบวนการรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งเป็นผู้ออกมาตรฐาน ตรวจสอบรับรอง เเละเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการสารเคมีที่ใช้ในระบบเกษตร เนื่องจากนั่งอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เป็นหน่วยงานในกลุ่มกระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
“การบริโภคอาหารที่หลากหลายเป็นอีกทางหนึ่งที่หลีกเลี่ยงสารพิษตกค้างได้ ผู้บริโภคควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีตามฤดูกาลเป็นหลักเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเอง” รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ มกอช. กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาเครื่องหมาย Q ใหม่ เพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภค และควบคุมมาตรฐานของผลผลิตตามที่กำหนด รวมถึงให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจัดการปัญหาเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบฟูราน และเมโทมิล
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรต้องควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรงและดูดซึมอย่างเข้มงวดโดยเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรและเพิ่มกลไกการตรวจสอบหลังการขึ้นทะเบียน (Tracking System) พร้อมกันนี้ มกอช. อย. เเละกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาสังคมเร่งรัดการพัฒนาระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร (Rapid Alert System for Food) ภายในปี พ.ศ. 2558 .
รายละเอียดเพิ่มเติม:การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้