สัตวแพทย์จุฬาฯ ยันจุดดำในเนื้อหมูไม่อันตราย ชี้เป็นเพียงการผิดปกติของเม็ดสี
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ยืนยัน จุดดำในเนื้อหมูชำแหละไม่มีอันตราย ไม่ใช้เชื้อรา ชี้เป็นแค่การสะสมของเม็ดสีชนิดเมลานินเท่านั้น
สืบเนื่องจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวแพร่หลายในโลกออนไลน์เรื่องของการพบสิ่งปนเปื้อนในเนื้อสุกรชำแหละมีลักษณะเป็นจุดดำๆ ในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ที่ทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก ทั้งยังมีการเผยแพร่รูปภาพทางสื่อต่างๆ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเนื้อสุกรเน่าและขึ้นรานั้น
ล่าสุดวันที่ 18 สิงหาคม 2557 คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเรื่อง “ไขข้อข้องใจ จุดดำในเนื้อสุกรชำแหละ” ณ ห้องประชุม 1/1 ชั้น 3 อาคาร 50 ปี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จากการติดตามประเด็นนี้ทางคณะสัตวแพทย์ได้มีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการด้านอาหารปลอดภัยแล้วพบว่า เนื้อสุกรขุนที่มีลักษณะเป็นหย่อมๆ นั้น เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการสะสมเม็ดสี ชนิดเมลานิน (melanin) โดยผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน เพียงแค่อาจจะทำให้เนื้อสุกรไม่น่ารักประทานเท่านั้นเอง
สำหรับจุดดำดังกล่าวพบได้บริเวณเยื่อไขมันหน้าท้อง หรือบริเวณเต้านมของสุกรเพศเมีย ส่วนเพศผู้นั้นพบได้น้อยมาก และส่วนใหญ่แล้วเป็นความผิดปกติในช่วงสัตว์ในฤดูการผสมพันธุ์ มักพบในสุกรสายพันธุ์สีดำหรือลูกผสมที่มีสายพันธุ์สีดำร่วม เช่นเดียวกับ "ไก่ดำ" ที่นิยมรับประทานกันตามท้องตลาด
“วิธีการสังเกตว่าเป็นเนื้อหมูขึ้นราหรือเนื้อหมูที่มีความผิดปกติของเม็ดสีนั้น ผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง เช่น มีกลิ่น เป็นต้น ” คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ด้านนายสมชาย นิติกาญจนา ผู้ประกอบการเจ้าของฟาร์มสุกร กล่าวว่า มีความมั่นใจในการขายเนื้อหมูมากขึ้นจากการแถลงข่าว ซึ่งในส่วนนี้ต้องทำความเข้าใจให้กับผู้บริโภคต่อไปว่าเนื้อหมูลักษณะดังกล่าวไม่มีอันตรายแต่อย่างใด สามารถบริโภคได้ตามปกติ