“ทุจริตเหมือนขยะแผ่นดิน” เมื่อป.ป.ช.จับมือขรก.-เอกชนต้านโกง
“…การทุจริตกลับเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของสังคมโลก สังคมโลกพยายามดิ้นรนไปสู่จุดที่ใสสะอาด ซึ่งเรื่องความโปร่งใสมีการจัดเรตติ้งกันทุกปี โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปรากฏว่า ไทยสาละวันเตี้ยลงทุกที จากอันดับ 80 กว่า เป็นอันดับที่ 102 แล้ว ต้องดูในเดือนธันวาคม 2557 นี้ อันดับจะร่วงหล่นหรือดีขึ้น…”
“การโกงเหมือขยะของประเทศ ไม่ใช่ขยะชายหาด แต่ขยะดังกล่าวสุมอยู่ในประเทศเรามายาวนานมาก เป็นขยะความคิด ขยะทัศนคติ ทำให้เราต้องต่ำเตี้ยลงในสายตาประชาคมโลก”
เป็นคำพูดของ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่หล่นกลางวงเสวนา “พอกันที การโกง” ที่จัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ถนนพิษณุโลก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557
เปรียบเสมือนหมัดน็อคสอยเข้าปลายคางอย่างจัง !
และไม่ใช่แค่หมัดเดียวเท่านั้น เพราะภายในงานเสวนานี้ยังมีทั้ง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รักษาราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นผู้ร่วมเสวนา ที่นำเสนอแนวคิดต่อต้านการทุจริต ที่กัดกินประเทศมาอย่างยาวนานอีกด้วย
โดยงานนี้ นายวิชา เริ่มเปิดประเด็นว่า การป้องกันทุจริตจะไม่ได้ผล ถ้าไม่สร้างจิตสำนึกของการเรียนรู้ ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น และข้อผิดพลาดว่า ทำไมจึงเกิดการทุจริต ทำไมคดีความมีจำนวนมาก และทำไมคนยังรู้สึกว่าการทุจริตไม่เป็นอะไรขอให้ได้ประโยชน์เป็นพอ แล้วฝังอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของคนไทยมาโดยตลอด
“การทุจริตกลับเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของสังคมโลก สังคมโลกพยายามดิ้นรนไปสู่จุดที่ใสสะอาด ซึ่งเรื่องความโปร่งใสมีการจัดเรตติ้งกันทุกปี โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปรากฏว่า ไทยสาละวันเตี้ยลงทุกที จากอันดับ 80 กว่า เป็นอันดับที่ 102 แล้ว ต้องดูในเดือนธันวาคม 2557 นี้ อันดับจะร่วงหล่นหรือดีขึ้น”
และว่า อย่างไรก็ดี เรายังหวั่นใจว่า เมื่อการปฏิรูปเกิดขึ้น ซึ่งมีระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จะสำเร็จหรือไม่ไม่รู้ แต่โร้ดแม็พกำหนดว่า ปีหน้าจะต้องมีการเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งก็ไม่รู้ว่าการเมืองเก่าจะกลับมาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเข้ามาแล้วจะทำอะไรในเชิงที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เปลี่ยนแต่สัญลักษณ์
“ถ้าดูภาพก่อนที่จะมี คสช. ชายหาดทั้งหลายสกปรก แต่พอ คสช. เข้ามามีการจัดระเบียบใหม่ คนมองเห็นภาพว่า การจัดระเบียบเป็นสิ่งที่ดีงาม เช่นเดียวกับเรื่องทุจริตที่ต้องจัดระเบียบเช่นเดียวกัน”
นายวิชา ย้ำถึงความเป็นจริงว่า คนไทยเต็มไปด้วยระบบอุมถัมป์ ถ้ารู้จักกันจะวิ่งเต้น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอาลูกหลานที่ไม่มีความสามารถมาทำงาน แต่ไม่สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองไปได้ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่เราต่อสู้กันมาตลอด ขณะนี้กำลังสู้ให้ใสสะอาด ไม่ใช่อาศัยบริษัทพรรคพวก เครือญาติ เราต้องตัดแนวความคิดเรื่องทุจริตไม่เป็นไรออกไปให้ได้
ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ข้าราชการต้องรู้จักบทบาทตัวเองเป็นสำคัญ ในเมื่อตัดสินใจเข้ามารับราชการ แต่อยากวางอำนาจบาตรใหญ่ อยากฉกฉวยโอกาส อยากมีอำนาจจนกระทั่งสุดโต่ง บ้านเมืองก็เกิดระส่ำระส่าย เช่น ประเทศไทยในอดีต มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่น่าภาคภูมิใจในเรื่องซื่อสัตย์สุจริต เพิ่งจะมาในช่วงหลัง มันเป็นเรื่องระเบียบการเมืองการปกครองของเรา ที่ขาดความถูกต้องเหมาะสม ผู้คนก็เลยเลียนแบบในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
“ถ้าหากว่าเรามองย้อนถึงในอดีตว่า บรรพชนของคนไทยทำอะไรกันไว้บ้าง เป็นแบบอย่างให้กับคนในชาติ นำมาเป็นตัวอย่างที่ยั่งยืน ยกตัวอย่าง ตอนนี้มีตัวอย่างใครบ้าง คนไทยก็จะมองไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ต้องเพิ่มบุคคลเหล่านี้ให้มาก ๆ เป็นแบบอย่างให้กับลูกหลาน”
ม.ล.ปนัดดา อธิบายว่า การดำรงชีวิตที่ปราศจากแบบอย่าง เขาเรียกว่า หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก ถ้าเรามีหัวที่งดงาม มีแบบอย่างที่ยั่งยืน ใครก็อยากเลียนแบบ แต่ตอนหลังเราไม่มีเลย ระบบเราในช่วงหลังไม่ดี ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวธรรมาธิบาลราชการ กลายเป็นให้สิ่งที่เรียกว่า การเมืองมาครอบงำ ทำได้แม้กระทั่งนำการเมืองมาแบ่งแยกผู้คน
“เราต้องสร้างความรักชาติในหมู่ของพลเมืองที่เกิดขึ้น อาจต้องยอมลำบากตรงนี้ แล้วค่อยให้การเมืองตามมา ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะมาถกกันในเรื่องการปฏิรูป และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้เป็นสถาปนิกใหญ่ ช่วยวาดภาพบ้านเมืองไทยให้ดี และให้เป็นที่พึงปรารถนาของผู้คน”
ม.ล.ปนัดดา กล่าวถึงกรณีโครงการรับจำนำข้าวว่า ถ้ามองเชิงถูกต้อง เขาก็ไม่ควรทำ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาที่มีบุญคุณต่อแผ่นดินไทยและลูกหลานไทย ข้าวของประเทศไทยขึ้นชื่อลือนามอย่างมาก ดังนั้นเราต้องนำเกียรติยศชื่อเสียงของข้าวกลับคืนมา และข้าราชการต้องคานบ้าง อะไรถูกไม่ถูก ไม่ใช่ตามอกตามใจทุกเรื่อง การเมืองเข้ามาแล้วก็ไป ก็อาศัยข้าราชการพูดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อกัน
ด้านภาคเอกชนอย่าง นายมานะ กล่าวว่า ถ้าผู้นำรัฐบาล หรือรัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ใช้อำนาจแทรกแซงโยกย้าย ใช้ระบบอุมภัมป์ ข้าราชการก็จะเรียนรู้ไปตามนี้ ฉะนั้นก็เชื่อการศึกษานี้ก็บอกว่า นักการเมืองคือต้นตอของการคอร์รัปชั่น แม้มีหลายคนท้วงว่าเป็นข้าราชการ เพราะหากข้าราชการไม่ชงเรื่องให้มันไม่มีทางสำเร็จ มันจะพิสูจน์ว่าข้าราชการเป็นต้นตอของคอร์รัปชั่น
“ถ้าเราทบทวนดู มันมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการคอร์รับชั่นในบ้านเรามากมาย เช่น ปัญหาของการคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยนักการเมืองท้องถิ่น เราได้ยินว่ามีการโกงเรื่องงบประมาณ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสมัครงานก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะ”
นายมานะ ระบุว่า ถ้าปล่อยคอร์รับชั่นต่อไปจะเกิดความล้มเหลวในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นภาคเอกชนจึงริเริ่มวิธีการควบคุมคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ มาใช้ในบ้านเรา เช่น ข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขนาดใหญ่ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบโครงการเหล่านี้ได้
ส่วนกรณีที่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงใช้เงินหว่านซื้อสื่อนั้น นายมานะ อธิบายว่า ประเด็นนี้เราตั้งข้อสงสัยว่าเงินเหล่านี้ใช้แล้วประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งการที่สมาคมสื่อบอกว่า การใช้เงินซื้อสื่อ ทำให้สื่อเสียอิสระในการทำงาน การใช้งบประมาณของรัฐ แม้แต่ธนาคารออมสิน ยังใช้เงินโฆษณา 2 เท่าของธนาคารเชิงพาณิชย์
“สิ่งเหล่านี้ภาคสื่อได้ลุกขึ้นมารวมตัว เพื่อที่จะบอกว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง และแก้ไขสิ่งเหล่านี้ แต่ลึก ๆ แล้วสื่อมวลชนเขาคิดว่าหากปลดโซ่ตรวน อิทธิพลทางธุรกิจของนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง ครอบงำ จะทำให้สื่อมีอิสระมากขึ้นในการทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลไปสู่ประชาชน”
ทั้งหมดนี้คือความคาดหวังขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตอย่าง ป.ป.ช. ภาคข้าราชการ และภาคเอกชน ที่ต้องการผนึกกำลังกันเพื่อ “ปราบ-ปรามการโกง” ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย
ส่วนจะสำเร็จเห็นผลแค่ไหนอย่างไร? ภายใต้ยุค “ท็อปบู๊ต” ของ คสช. ก็ต้องติดตามกันต่อไป !