ชาวบ้านพิจิตร ค้าน กพร.เร่งออกประทานบัตรเหมืองทองคำ ชี้ปัญหาเดิมยังไม่เคลียร์
จากข่าวกรมเหมืองแร่ฯ เร่งพิจารณาประทานบัตรเหมืองทองคำ ซึ่งขณะนี้มี 6 บริษัทจ่อคิวรอรับกระแสราคาทองพุ่ง ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากเหมืองโวยผลกระทบเดิมยังแก้ไม่ได้ เตรียมฟ้องศาลปกครองแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอชี้กองทุนฟื้นฟูชุมชน-สิ่งแวดล้อม ถูกนักการเมืองท้องถิ่นฮุบ
จากกรณีที่ นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ออกมาเปิดเผยว่า จะเร่งพิจารณาการขออาชญาบัตรพิเศษเหมืองทองคำ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ลงนาม ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม 6 พ.ค. 54 เรื่องนโยบายสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองคำ ตาม พ.ร.บ.แร่
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สอบถามไปยังชาวบ้านใน จ.พิจิตร หนึ่งในพื้นที่ที่มีการออกมาคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยให้เหตุผลว่าสร้างผลกระทบต่อชุมชน โดย น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ตัวแทนชาวบ้านเขาหม้อ ม. 9 ต.เขาหม้อ อ.ทับค้อ จ.พิจิตร เปิดเผยว่าในพื้นที่ปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำชาตรี ดำเนินการโดย บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษทำเหมืองทองคำในจังหวัดเพชรบูรณ์และพิจิตร เพิ่มเติมอีก 53 แปลง เพื่อขยายโครงการในระยะที่ 3
น.ส.สื่อกัญญา ยังกล่าวว่าไม่อยากให้พื้นที่ใดได้รับการอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษเหมืองทองคำอีก เพราะแม้กระทั่งปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งมีบทเรียนที่ตัวเองและชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากได้รับผลกระทบ เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรัง บางรายเป็นมะเร็ง บางรายเจ็บป่วยไม่ทราบสาเหตุ ขณะนี้รวม 3 จังหวัดรอบเหมืองแร่ชาตรีได้รับผลกระทบแล้วกว่า 10 หมู่บ้าน จากผลการตรวจสอบพบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษหลายชนิด ทั้งไซดยาไนด์ แมงกานีส ตะกั่ว ปรอท ส่วนทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆทั้งดิน น้ำ ป่า ก็เสื่อมโทรมลงทุกขณะ ล่าสุดมีประกาศห้ามใช้น้ำบ่อน้ำธรรมชาติแล้ว และชาวบ้านไม่สามารถทำอาชีพเกษตรกรรมได้
“บริษัทไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาไม่เคยลงมาบอกชุมชนว่าจะทำอะไร และส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ถ้าแค่นี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วจะสร้างอีกพื้นที่ใหม่ๆ จะเกิดปัญหาไม่รู้จบสิ้น” ตัวแทนชาวบ้าน กล่าว
ด้าน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ เปิดเผยว่าแม้ตามประกาศกระทรวงฉบับใหม่ จะกำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ ต้องวางเงินประกันกรณีเกิดผลกระทบไร่ละ 500,000 บาท และจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชุมชน และกองทุนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูสภาพเหมือง แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะขาดการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากบทเรียนในอดีต เคยมีการจัดตั้งกองทุนเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก โดยคณะกรรมการกองทุนส่วนใหญ่เป็นผู้นำท้องถิ่นตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับจังหวัด มีตัวแทนชาวบ้านเพียง 1 หรือ 2 คน เงินทุนเพื่อการฟื้นฟูจึงถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นเงินของนักการเมืองท้องถิ่น ไม่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง และถ้ามีการจัดตั้งกองทุนตามประกาศก็จะซ้ำรอยปัญหาเดิม
ส่วนเงินประกัน 500,000 บาทต่อไร่นั้น อยากถามว่ารัฐคำนวณจากฐานอะไร เพราะเหมืองทองคำมีผลกระทบต่อชุมชนสูง ตั้งแต่ขั้นตอนการระเบิดหิน เกิดมลพิษปนเปื้อนในอากาศและน้ำ กระบวนการแต่งแร่ (การสกัดทองคำ) มีการใช้สารเคมีที่อันตรายโดยเฉพาะไซยาไนด์ และปรอท ส่งผลต่อสุขภาพ
“ในพื้นที่ จ.เลย พบว่ามีสารไซยาไนด์ปนเปื้อนในเลือดสูง จากที่เคยเกิดขึ้นหมู่บ้านเดียว ได้ลุกลามไปกว่า 6 หมู่บ้านแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาแสดงความรับผิดขอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย และกฎหมายที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถเอาผิดบริษัทฯ ให้ออกมารับผิดชอบชาวบ้านได้” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดในพื้นที่ จ.พิจิตร น.ส. สื่อกัญญา กล่าวว่าชุมชนได้ฟ้องร้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่เดิมแล้ว และขณะนี้ชาวบ้านปรึกษากันว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทต่อศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมที่ จ. พิษณุโลก ที่เพิ่งเปิดทำการ แต่การเข้าสู่กระบวนการศาลต้องใช้เงินจำนวนมากชาวบ้าน จึงยังไม่มีความคืบหน้า .