งานวิจัย"คดีมั่นคง"ชายแดนใต้ อัยการสั่งคดีไว ศาลชั้นต้นยกฟ้องอื้อ
สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 2 สำนักงานอัยการภาค 9 และสำนักงานอัยการสูงสุด จัดงานแถลงเปิดผลงานวิจัยเรื่อง "การประเมินประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคง และวิเคราะห์คำพิพากษาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ราชมังคลา พาวิลเลียน บีช รีสอร์ท จ.สงขลา เมื่อบ่ายวานนี้ (16 ส.ค.) โดยมี นายมนัส สุขสวัสดิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธาน
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงายอัยการภาค 9 กับมูลนิธิเอเซีย โดยเป็นการศึกษาในเฟสที่ 2 ระหว่างเดือน ส.ค.55 ถึง ก.ค.56 ต่อเนื่องจากการศึกษาเฟสแรก ตั้งแต่ ม.ค.47 ถึงเดือน ก.ค.55
การศึกษาเฟสนี้ คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์คำพิพากษาคดีความมั่นคงทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 80 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมุ่งเรื่องประสิทธิภาพและความสำเร็จของคดีความมั่นคงที่ใช้พยานหลักฐานทางนิติเวช และนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับพยานหลักฐานอื่น ทั้งในชั้นก่อนฟ้องและในชั้นศาลที่มีคำพิพากษา
ผลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.55 ถึง 31 ก.ค.56 มีคดีความมั่นคงที่สำนักงานอัยการจังหวัดชายแดนภาคใต้รับเอาไว้ทั้งหมด 466 คดี แยกเป็นคดีที่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดมากที่สุด ร้อยละ 51.03 รองลงมาเป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด ร้อยละ 27.90 โดยในส่วนของคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด อัยการมีคำสั่งฟ้องทุกข้อหาและบางข้อหา ร้อยละ 61.64 หรือ 98 คดี และมีสั่งไม่ฟ้องร้อยละ 38.36 หรือ 61 คดี (ที่เหลือยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา)
เมื่อนำผลศึกษาไปเปรียบเทียบกับเฟสแรก พบว่าจำนวนคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง มีมากขึ้นร้อยละ 4.45
สำหรับประเด็นน่าสนใจที่ค้นพบจากการศึกษา ก็คือ ในรอบปีที่ศึกษา (1 ส.ค.55 ถึง 31 ก.ค.56) ระยะเวลาในการสั่งคดีความมั่นคงของพนักงานอัยการตั้งแต่วันรับคดี ถึงวันสั่งคดี ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 20.24 วัน ลดลงจากการศึกษาเฟสแรก (ม.ค.47 ถึง ก.ค.55) ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 210.36 วัน ถือว่าใช้เวลาน้อยลงมาก คิดเป็นร้อยละ 90.38 โดยเป็นผลมาจากพนักงานอัยการมีประสบการณ์ในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มจำนวนพนักงานอัยการเข้าไปในพื้นที่มากกว่าเดิม
ส่วนผลคำพิพากษานั้น จากการรวบรวมคำพิพากษาในห้วงเวลาที่ศึกษา จำนวน 157 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีการฟ้องคดีก่อนช่วงที่ทำการศึกษา พบว่าคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น ยกฟ้องร้อยละ 83.63 คดีถึงที่สุดในศาลชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องร้อยละ 57.89 และคดีถึงที่สุดในศาลฎีกา ยกฟ้องร้อยละ 21.42
เมื่อเทียบเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีการะหว่างการศึกษารอบแรกกับรอบปัจจุบัน พบว่า ศาลฎีการับฟังพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.53 แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และพยานหลักฐานอื่นๆ ที่พนักงานอัยการนำเสนอในสำนวนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะหลายคดีไม่มีประจักษ์พยาน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ