ม.อ.จัดประชุมนานาชาติ "สื่อสาร - ขัดแย้ง - สันติภาพ"
ผู้ที่สนใจการแก้ไขปัญหาไฟใต้ในบริบทของกระบวนการสันติภาพที่มีประสบการณ์จากพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ บนโลก ไม่ควรไม่พลาดงานนี้...
21.22 ส.ค. คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จับมือกับคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา และองค์กรภาคีอย่าง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย"
วิทยากรจากต่างประเทศ 3 คนที่ร่วมเป็นองค์ปาฐก นับว่าน่าติดตามรับฟัง
คนแรก Stein Tønnesson นักวิชาการด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเพื่อสันติภาพของมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน และสถาบันวิจัยสันติศึกษาแห่งกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ บรรยายในหัวข้อ "จากระเบิดถึงป้ายผ้า? การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธ"
ประวัติของนักวิชาการผู้นี้ เคยศึกษาเกี่ยวกับสงครามในอินโดจีน การสร้างความเป็นชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้
คนที่สอง รศ.ดร. Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้งศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แสดงปาฐกถาในหัวข้อ "วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง" ผลงานล่าสุดของเขา คือ หนังสือที่ชื่อว่า "มาตรฐานระดับโลกเกี่ยวกับการรายงานข่าวความขัดแย้ง" มีการให้นิยามของคำว่า "คุณสมบัติของวารสารศาสตร์ที่ดี" พร้อมเชื่อมโยงให้เห็นมิติความขัดแย้งกับวารสารศาสตร์ และนำเสนอกรณีศึกษาของ 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก
ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา เขาให้ความสนใจการจัดอบรมด้านวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพให้แก่นักวิชาชีพทั้งระดับบรรณาธิการและผู้สื่อข่าว รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในสื่อในหลายประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด Peace Journalism โดย Jake Lynch มีประสบการณ์เป็นนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในฐานะผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ด้วย
คนที่สาม คือ Sanjana Yajitha Hattotuwa หัวหน้าหน่วยสื่อ ศูนย์นโยบายทางเลือกศรีลังกา (Centre for Policy Alternatives) จะร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อ "ระหว่าง Scylla และวังน้ำวน Charybdis: การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง" โดยคำว่า "Between Scylla and Charybdis" ที่ใช้เป็นหัวข้อของการบรรยาย เป็นสำนวนแปลว่าทางเลือกสองทางที่แต่ละทางล้วนมีจุดจบที่หายนะทั้งคู่ จากชื่อหัวข้อดังกล่าว ทำให้ชวนสงสัยว่าทางเลือกที่ไม่พึงปรารถนานั้นคืออะไร และเกี่ยวข้องกับประเด็นการสื่อสารกับการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งอย่างไร จากมุมมองและประสบการณ์ของเขาในศรีลังกา
ตลอด 2 วันของงานยังมีการประชุมกลุ่มย่อยอีกหลายหัวข้อ รวมทั้งการนำเสนองานวิจัยและผลการศึกษาของนักวิชาการไทยจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานีด้วย เช่น ดร.คนึงขวัญ นุ่นแก้ว เรื่องผลกระทบของความเป็นเจ้าของสื่อ เปรียบเทียบสื่อไทยกับอินเดีย ในบริบทสถานการณ์ความขัดแย้ง, ดร.ศริยา บิลแสละ กับ ดร.มูอัสซัล บิลแสละ เรื่องการใช้โมบายเลิร์นนิ่งเพื่อการเรียนรู้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพวิทยากรจากต่างประเทศที่เข้าร่วมปาฐกถา
ขอบคุณ : คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี เอื้อเฟื้อภาพ