เฉียด 8 พันล.งบโฆษณาภาครัฐ 6 องค์กรจี้ออกกม.เข้ม สกัดนักการเมืองหาเสียง-ซื้อสื่อ
6 องค์กรวิชาชีพยื่นจม.เปิดผนึกถึงปลัดกลาโหม ออกกฎหมายควบคุมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ หลัง TDRI สำรวจพบโฆษณาในนสพ. จำนวนไม่น้อยเน้นไปที่ตัวบุคคล โชว์หราภาพนักการเมือง
วันที่ 15 สิงหาคม เวลา 13.00 น.ที่กระทรวงกลาโหม ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกว่าด้วยกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานของรัฐต่อพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้จากข้อมูลประกอบจดหมายเปิดผนึกซึ่งเป็นผลวิจัยของดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และธิปไตร แสละวงศ์ ได้ระบุงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐปี 2556 โดยรัฐมีค่าใช้จ่ายโฆษณาจำนวนเงิน 7,985 ล้านบาท ขณะที่เอกชนมีค่าใช้จ่าย 114,115 ล้านบาท
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นในการใช้งบโฆษณาของหน่วยงานรัฐในเรื่องภาพลักษณ์ของนักการเมือง ข้าราชการ มากกว่าการให้เนื้อหาสาระด้านความรู้กับประชาชน อีกทั้งยังมีการใช้งบทุ่มซื้อสื่อและมีการข่มขู่ว่าหากไม่เขียนเชียร์จะถูกถอดโฆษณา ทำให้สื่อไม่เป็นอิสระในการทำงานจึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันกฎหมายนี้ขึ้นมา และอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเป็นแนวนโ่ยบายไม่ให้นักการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีไม่เน้นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เพื่อเป็นแบบอย่าง
ด้านนายบรรยงค์ พงษ์พานิช ตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวอย่างจากหลายๆประเทศเขาก็มีการออกกฎหมายในลักษณะนี้ซึ่งเราได้ทำการศึกษามาแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้จะบอกว่าโฆษณาไม่ได้ เพียงแต่การโฆษณาต้องเป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ว่าประชาชนจะได้อะไร หรือห้ามไม่ให้มีรูปภาพของนักการเมือง ในการว่าจ้างก็ต้องมีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้ว่าจ่างเป็นคนจ่ายเงินและจะต้องมีการประเมินผล ทั้งนี้สิ่งที่เราจะดำเนินต่อไปคือทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือทีดีอาร์ไอ กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะช่วยกันร่างกฎหมายและนำมาเสนอต่อไป
รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก
แถลงการณ์ว่าด้วยกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ สืบเนื่องจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พบว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน กล่าวคือมีการใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดทำป้ายหรือสื่อโฆษณาที่มีเนื้อหาโฆษณาตัวบุคคล อันได้แก่ นักการเมืองและข้าราชการมากกว่าจะนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือมีสาระที่ประชาชนควรรับรู้
การกระทำดังกล่าวถือเป็นความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้น ไม่มีมาตรฐานราคาที่แน่นอน จึงง่ายต่อการกลบเกลื่อนการใช้งบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลหรือทุจริต
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนมากโดยไม่มีการควบคุมดังกล่าวของหน่วยงานของรัฐยังส่งผลให้รัฐมีอิทธิพลอย่างมากเหนือสื่อมวลชนในฐานะผู้ซื้อสื่อ ทำให้สื่อมวลชนสูญเสียความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เปิดเผย หรือตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ หรือแม้กระทั่งรู้เห็นเป็นใจกับรัฐในการบิดเบือน ปิดบังการรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีการทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ โดยนัยนี้ จึงจำเป็นต้องมีการออก "กฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ" ซึ่งมีสาระสำคัญเช่น
• กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการโฆษณาโดยใช้งบประมาณของรัฐ หรือเงินสนับสนุน อื่นๆ ตามกฎหมาย ส่งโฆษณาที่ต้องการเผยแพร่ไปให้หน่วยงานที่จะได้มีการกำหนดต่อไป (ต่อไปนี้เรียกว่า “หน่วยงานที่กำหนด”) พิจารณาอนุมัติก่อน ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการเผยแพร่โฆษณาก่อนที่หน่วยงานนั้นจะได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่กำหนด เว้นแต่เป็นกรณียกเว้นตามที่กฎหมายระบุ
• กำหนดให้โฆษณาครอบคลุมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ป้ายโฆษณา ตลอดจนงานอีเวนต์
• กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดพิจารณาอนุมัติให้มีการเผยแพร่โฆษณาได้เฉพาะในกรณีที่
⁃ โฆษณานั้นเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือประเทศ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชน ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือบริการของรัฐบาล หรือข้อมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ
⁃ โฆษณานั้นมีข้อความระบุว่าเป็นโฆษณาที่จัดทำขึ้นโดยใช้งบประมาณของรัฐ และระบุชื่อหน่วยงานผู้ลงโฆษณา
⁃ โฆษณานั้นไม่มีชื่อ เสียง ภาพของบุคคลตามที่กฎหมายระบุ กล่าวคือ นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรอิสระ
⁃ โฆษณานั้นไม่มีลักษณะมุ่งเน้นสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลหรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม • กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดต้องมีคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติภายในระยะเวลา 7 วัน โดยคำสั่งของหน่วยงานที่กำหนดถือเป็นที่สุด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หน่วยงานที่กำหนดไม่มีคำสั่งภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือเป็นการอนุมัติโดยปริยาย
• กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในทางนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆขึ้นเพื่อดำเนินการตามกฎหมายนี้
• กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ประจำปี ซึ่งรวมถึงการซื้อพื้นที่และเวลาในการโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ โทรทัศน์และการจัดอีเวนต์ โดยมีการระบุเนื้อหาสาระและความจำเป็นที่จะต้องประชาสัมพันธ์ ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ และวงเงินที่ต้องใช้ในรายกิจกรรม
• กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทำรายงานประจำปี เพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ
ทั้งหกองค์กรเชื่อว่าหากมีการออก "กฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ" ได้ดังที่กล่าวมานี้ จะช่วยควบคุมและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐในส่วนของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปโดยคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อีกทั้งยังจะช่วยให้สื่อมวลชนสามารถดำรงความอิสระ และทำหน้าที่ในฐานะผู้ติดตาม รวบรวม ประเมิน และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันให้สังคมรับทราบได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป