อนุศาสตร์ สุวรรณมงคล : คนชายแดนใต้ไม่อยากเป็นหนูทดลอง "ปกครองพิเศษ"
ยังคงมีความเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับนโยบายดับไฟใต้โดยใช้แนวทางจัดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอโมเดล “นครปัตตานี” ส่วนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่เสนอ “ปัตตานีมหานคร”
อนุศาสตร์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภาสายสรรหาจาก จ.ปัตตานี เป็นผู้หนึ่งที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหนก็ตาม และด้วยบทบาทของเขาซึ่งเป็นทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และเป็นคนในพื้นที่แท้ๆ ทำให้เหตุผลที่สนับสนุนการ “คิดต่าง” ของเขานั้น เป็นประเด็นที่น่าเงี่ยหูฟัง...
O คิดว่าควรผลักดันให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในขณะนี้หรือไม่?
ผมคิดว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ออกมาถือเป็นประชามติของประชาชน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากนโยบายของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อยู่คนละขั้วกันชัดเจน บังเอิญพรรคเพื่อไทย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (อดีตประธานพรรค) ในอดีตมีความคิดเรื่องนครปัตตานี และปัจจุบันในพรรคเพื่อไทยก็มีผู้ผลักดันเรื่องนี้ โดยบอกว่าได้เตรียมร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วงลงมาช่วยผู้สมัครหาเสียงในพื้นที่ ก็ได้พูดถึงเรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำให้หลายคนรู้สึกเป็นห่วง
ที่ผ่านมานโยบายหาเสียงของทั้ง 2 พรรคชัดเจนว่าสวนทางกัน พรรคหนึ่งจะยุบ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่อีกพรรคจะไม่ยุบ และจะใช้กลไกของหน่วยงานนี้แก้ปัญหาต่อไป ซึ่งหน่วยงานนี้กำลังเริ่มทำงาน
ส่วนฝ่ายวิชาการเองก็นำเสนอเรื่องเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือการกระจายอำนาจ เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ และพอดีทางพรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่าเตรียมกฎหมายเรื่องนครปัตตานีเอาไว้แล้ว แต่ก็แพ้การเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นประชามติของประชาชน
O แสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาภาคใต้หรือ ประชาชนถึงได้ให้ความไว้วางใจ?
จริงๆ แล้วในความรู้สึกของผมนะ ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐบาล (ชุดที่แล้ว) แก้ปัญหาภาคใต้ไม่เข้าตาเท่าที่ควร การก่อเหตุร้ายก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสถิติจะลดลง แต่ก็ยังเกิดเหตุอยู่ ก่อนวันเลือกตั้งผมคาดการณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ที่นั่ง ส.ส.ลดลง แต่ผลออกมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ 9 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่ได้เลย
เมื่อผลออกมาเช่นนี้เราก็ควรมานั่งวิเคราะห์กันว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ชัดเจนมากที่สุด และถือว่าไม่มีตรงกลาง คือมี 2 ขั้วชัดแจ้ง ทั้งสองพรรคนี้มีนโยบายที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจึงถือเป็นฉันทานุมัติ เป็นมติของประชาชนในพื้นที่ว่าจะเอาขั้วไหน การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนต้องเลือกทั้ง ส.ส.เขตคือเลือกตัวบุคคล และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือเลือกพรรคการเมือง จากผลที่ออกมาถือเป็นประชามติของประชาชนแล้ว
O นักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่บอกว่าไม่ใช่ฉันทามติ เพราะการชนะเลือกตั้งมาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่นโยบายอย่างเดียว และพรรคเพื่อไทยประกาศเรื่องนครปัตตานีหรือการกระจายอำนาจไว้แล้วก็ต้องทำต่อ ถ้าไม่ทำก็จะทวงสัญญา คิดอย่างไร?
ครับ ผมก็ทราบจากข่าวว่าจะมีการทวงถามรัฐบาลในเรื่องนี้ แต่อย่าลืมว่าเราต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้ตัวชี้วัดคือการเลือกตั้งซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังให้โอกาส ศอ.บต.ทำงาน แต่คนเหล่านี้กลับมาบอกว่าเสียงของประชาชนไม่ใช่ตัวบอก ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนบอกว่าทุกอย่างต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องให้คนพื้นที่เป็นคนชี้ แต่พอผลการเลือกตั้งออกมา ทั้งนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมกลับบอกว่าต้องเอานโยบายจากส่วนกลาง (หมายถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งในภูมิภาคอื่นๆ) แปลว่าส่วนกลางเป็นคนคิดแทนประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เหมือนกับนักวิชาการหรือคนผลักดันเรื่องนี้คิดแทนให้กับคนในพื้นที่หรือเปล่า ทั้งๆ ที่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ประชาชนได้ตัดสินแล้วก็ต้องยอมรับ
O ท่าทีของกลุ่มที่สนับสนุนให้จัดการปกครองรูปแบบใหม่ควรเป็นอย่างไร?
ผมคิดว่าทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะประชาชนได้เลือกข้างอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยมีตัวชี้วัดจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. อีกทั้งการยุบ ศอ.บต.และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43) ในอดีต เราก็เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยได้ลั่นวาจาไว้ตอนช่วงหาเสียงว่าจะยุบ ศอ.บต.เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาในรูปแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาลชุดใหม่น่าจะหยุดคิด เพราะว่าความคิดของประชาชนไม่ได้ตกผลึก
O มองโมเดลที่มีการเสนอกันออกมาอย่างไร ทั้งนครปัตตานีของพรรคเพื่อไทย และปัตตานีมหานครของเครือข่ายภาคประชาสังคม?
ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้คือผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการนครปัตตานีหรือปัตตานีมหานครคงมาจากคนแค่ไม่กี่ตระกูล เพราะเขตเลือกตั้งเป็นเขตใหญ่มาก รวม 3 จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเดียว (ปัตตานีมหานครรวมพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาเข้ามาด้วย) แล้วใครล่ะที่จะมีทุนและความพร้อมมากพอที่จะหาเสียงได้ทุกอำเภอในสามจังหวัด เพราะวันนี้การเลือกตั้ง ส.ส.เขตเดียวยังใช้เงินตั้งกี่สิบล้าน ก็ลองคูณดูแล้วกัน
นอกจากนั้นยังน่าเป็นห่วงเรื่องกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อผู้ว่าฯกระทำผิดจะถูกลงโทษอย่างไร มีกฏเกณฑ์แบบไหน ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งจะแตกต่างจากผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งอยู่เพียงปีสองปีก็ต้องย้าย แต่ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งมีระบบเรียกคืน (รีคอล : Recall หมายถึงยื่นถอดถอนโดยจัดการเลือกตั้งใหม่) หรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่มีความชัดเจน ฉะนั้นในระยะสั้นผมอยากเตือนสติรัฐบาลว่าควรยกเลิกแนวคิดนี้ไปเลย หรือทบทวนหรือชะลอแนวคิดออกไปอย่างไม่มีกำหนด
การเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาจากกลุ่มปัญญาชนบางกลุ่ม ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ฉะนั้นแนวทางที่ควรดำเนินการและจะไม่สร้างปัญหาขัดแย้งตามมาคือปรับปรุงรูปแบบการกระจายอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น ทั้ง อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) และเทศบาล คือให้กระจายอำนาจเพิ่มเข้าไป และปรับปรุงรูปแบบการบริหารกับการได้มาของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อยากบอกว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ทดลอง และในระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงของประชาชน จะบอกว่าประชาชนไม่รู้รายละเอียดไม่ได้ และถ้ารัฐบาลยังผลักดันเรื่องนี้ ผมคิดว่าวงจรความขัดแย้งอาจทวีความรุนแรงขึ้น ตัวอย่างที่ผ่านมาก็เห็นชัดจากที่เคยยุบ ศอ.บต. ฉะนั้นต่อไปถ้ายังมีการผลักดันเรื่องนี้อยู่อีก ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นตามมา
O ทางออกที่เป็นข้อเสนอของคุณอนุศาสตร์คือปรับปรุงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ให้ดีขึ้น แล้วทางออกของการเมืองภาพใหญ่ล่ะจะเป็นอย่างไร?
ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ควรร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เพราะการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ก็ใช่ว่าจะทำให้ปัญหายุติ ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นด้วย เราไม่อยากเป็นหนูทดลองเหมือนอย่างมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ฉะนั้นรัฐบาลใหม่ควรใช้เวลาศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ และที่สำคัญคือต้องฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ฟังแต่นักวิชาการหรือเครือข่ายภาคประชาสังคมบางกลุ่มที่คิดแทน
ปัญหาเร่งด่วนของประชาชนในพื้นที่วันนี้ไม่ใช่เรื่องการรื้อโครงสร้างการปกครอง เพราะเป็นเรื่องของชนชั้นนำ ปัญหาของชาวบ้านจริงๆ คือเรื่องปากท้อง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องสาธารณสุข การศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวชาวบ้านมากกว่า และรัฐบาลควรเร่งทำเป็นอันดับแรก