"ราคายางแบบนี้ ตายไปลูกหลานคงต้องขายสวนทำบุญให้ยาย..."
จากภาวการณ์ราคายางพาราตกต่ำ ผลกระทบไม่ใช่แค่ภาคใต้ เพราะปัจจุบันแทบทุกภาคของประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง
แต่พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องเจอกับสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้ออกจากบ้านไปกรีดยางตอนเช้ามืดไม่ได้ เนื่องจากมีคนถูกลอบยิงถูกวางระเบิดในสวนยางอยู่เป็นประจำ จึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการทำ "ขี้ยาง" หรือ "ยางถ้วย" แทนการขายน้ำยางหรือทำยางแผ่นซึ่งราคาดีกว่า
การทำ "ยางถ้วย" คือไปกรีดยางตอนสว่างแล้ว กรีดทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงไปเก็บยางที่แห้งติดก้นถ้วยหรือกะลา นำไปแคะรวมกันแล้วชั่งน้ำหนักขาย บางคนจึงเรียกว่า "ยางก้นถ้วย"
ปัจจุบันราคาขี้ยางหรือยางถ้วยอยู่ที่ 15-23 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น จากราคาเคยยืนอยู่ที่ 40-60 บาท บางช่วงพุ่งไปถึง 80 บาท!
ที่ผ่านมาราคาอยู่ในทิศทาง "ขาลง" มาโดยตลอด และจะเปรียบ "ยาง" เป็นลมหายใจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงไม่ผิด เพราะเป็นอาชีพหลักของคนจำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะเมื่อยางราคาถูก ย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ร้านทอง ร้านขายเสื้อผ้า ร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค กระทั่งพ่อค้าแม่ขายในตลาดสด
แนวทางการแก้ปัญหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เคยพูดมาหลายครั้ง ทั้งอนุมัติให้นำยางพาราไปเป็นส่วนผสมกับยางมะตอยในการเทพื้นซ่อมแซมถนนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท หรือการเตรียมจัดโซนนิ่งปลูกยาง ล้วนเป็นการจัดการปัญหาในระยะกลางและระยะยาว หาใช่การคลายวิกฤติในระยะเฉพาะหน้าไม่
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชายแดนใต้ทรุดมาตั้งแต่ก่อนเดือนรอมฎอน ทำให้ในช่วงถือศีลอด (29 มิ.ย.ถึง 27 ก.ค.) หลายครอบครัวต้องกินอยู่อย่างประหยัด ต้องเลือกซื้ออาหารละศีลอดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่ช่วงเดือนรอมฎอนของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่อาหารขายดี และมีตลาดนัดอาหารที่เต็มไปด้วยอาหารคาวหวาน รวมทั้งอาหารแปลกๆ หารับประทานยากมาวางขาย
พ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารในช่วงเดือนรอมฎอนพากันส่งเสียงบ่นว่า ขายของได้ไม่ค่อยดี อาหารเหลือทุกวัน หลายร้านใช้วิธีเก็บอาหารเพื่ออุ่นไว้ขายในวันถัดไป แต่ก็ทำให้ลูกค้าหลายรายท้องเสีย มีอาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นกันเยอะมากในช่วงรอมฎอนปีนี้
เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน จะมีเทศกาลเฉลิมฉลองที่เรียกว่า "ฮารีรายอ" ปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ก.ค. ปกติพี่น้องมุสลิมจะนิยมซื้อทองรูปพรรณ เสื้อผ้าใหม่ และรองเท้าใหม่เพื่อใส่ในวันรายอ แต่สำหรับปีนี้ ร้านค้าพากันบ่นว่าสินค้าที่เตรียมมาขายเหมือนทุกปีขายได้ไม่ถึง 25%
ซ้ำร้ายคดีลักขโมยยังเกิดขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะกับร้านขายเสื้อผ้าสำหรับเทศกาลฮารีรายอ เพราะเกิดกรณีพยายามขโมยเสื้อผ้าเด็กหลายกรณี ผู้กระทำมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พอได้สอบสวนทวนความก็ทราบว่าจำใจต้องขโมยเสื้อผ้าใหม่เพื่อให้ลูกได้มีสวมใส่ในวันรายอ เนื่องจากไม่มีเงินซื้อ กลัวลูกอายเพื่อน เมื่อทราบความจริง เจ้าของร้านส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจไม่เอาความ เพราะเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่
ที่หนักไปกว่านั้นคือ หลายครอบครัวต้องให้ลูกหยุดเรียน หรือเปลี่ยนโรงเรียนเพื่อลดค่าใช้จ่าย สถานการณ์จนถึงขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น และลุกลามไปยังผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย เช่น ทุเรียน ราคาหน้าสวนกิโลละเพียง 4-10 บาท จนชาวบ้านต้องหันไปทำทุเรียนกวน แต่ก็ไม่มีตลาดรับซื้อ
นางแวมีเนาะ สาเมาะ อายุ 74 ปี ชาวบ้าน อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ความเป็นอยู่ในปัจจุบันต่างจากอดีตมาก ในอดีตราคายางเคยตก แต่ก็ไม่ขนาดนี้ กลายเป็นว่าผ่านมา 30 ปี ราคาขี้ยางกลับอยู่ในระดับเดิม คือ กิโลกรัมละ 17-18 บาท แต่เมื่อก่อนชาวบ้านอยู่กันได้ เพราะราคาสินค้าไม่ได้สูงเหมือนปัจจุบัน
"เมื่อก่อนทองบาทละ 4 พันบาท เดี๋ยวนี้ 2 หมื่น ข้าวสารกันตังละ 12-20 บาท (1 กันตัง เท่ากับ 5 ลิตรเศษ) เดี๋ยวนี้อย่างต่ำเกือบร้อย ปลาเค็มเคยกิโลละ 30 บาท ทุกวันนี้ 80 บาท น้ำมันลิตรละ 7 บาท เดี๋ยวนี้ 2 ลิตรเกือบร้อย ราคาสินค้าขึ้นสูงจนไม่สมดุลกัน ทำให้รายได้จากการขายยางไม่พอกับรายจ่าย ทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันหมด"
นางแวมีเนาะ กล่าวอีกว่า ในอดีตนอกจากราคาสินค้าไม่สูงแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนกันระหว่างเพื่อนบ้านได้ ไม่ต้องซื้อขาย แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไป คนเห็นแก่ตัว ของทุกอย่างมีราคา อย่างตะไคร้ ขิง ข่า เดี๋ยวนี้ต้องซื้อกิน ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เอาของไปแลกกับคนที่ปลูกได้ ฉะนั้นถึงมีรายได้ไม่มาก แต่รายจ่ายไม่เยอะเหมือนทุกวันนี้
"เมื่อก่อนเมาะ (สรรพนามเรียกแทนตัวเองของคนแก่) จะขายยางเดือนหนึ่งๆ เป็นกระบะรถ ได้เงินมา 2-3 หมื่นก็เหลือกินเหลือใช้ เอาไปซื้อสมบัติเก็บให้ลูกหลาน แต่ทุกวันนี้ถ้ามียาง 1 คันรถกระบะ แทบไม่มีเงินเหลือ เพราะราคายางถูก ไปกรีดยางวันหนึ่งก็ต้องใช้น้ำมัน 2 ลิตร ก็เกือบร้อยแล้ว และไม่สามารถทำยางแผ่นได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะกลัวอันตราย ไปกรีดยางเร็วก็กลัวคนร้ายทำอันตราย ซึ่งไม่รู้กลุ่มไหนที่อยู่ในสวนยาง ก็เลยต้องทำขี้ยาง ทำให้รายได้ยิ่งลดลงกว่ายางแผ่น"
ขณะที่ นางตีเมาะ อาแว อายุ 89 ปี ชาวบ้าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า มีสวนยาง 30 กว่าไร่ ไม่เคยกรีดยางเอง ให้ลูกจ้างกรีด และจะแบ่งรายได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ลูกจ้างส่วนหนึ่ง เจ้าของส่วนหนึ่ง เมื่อก่อนได้เดือนหนึ่ง 2-3 หมื่นบาทก็อยู่ได้ แบ่งให้ลูกหลาน แต่ทุกวันนี้หักส่วนของลูกจ้างแล้วแทบไม่เหลือเงินเลย เพราะราคายางถูกลง แต่ราคาจ้างกรีดแพงขึ้น
"สวนยาง 30 ไร่นี้ ยายตั้งใจว่าจะเก็บเงินจากขายยางเพื่อสะสมให้ได้สักก้อน พอยายตายไป เงินส่วนนั้นก็จะให้ลูกหลานเอามาทำบุญให้ยาย ส่วนสวนยางก็ให้ลูกหลานเอาไปแบ่งกัน ยายจึงพยายามเก็บเงินให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อราคายางถูก เงินใหม่ไม่พอ ก็ต้องเอาเงินเก่าออกมาใช้ เงินใหม่ก็เก็บไม่ค่อยได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ตายไป ลูกหลานคงต้องขายสวนยางทำบุญให้ยายแน่ๆ"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ยางถ้วยที่ชาวบ้านนิยมทำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
2 ตีเมาะ อาแว
3 แวมีเนาะ สาเมาะ