นักวิชาการชี้ "บัตรเครดิตชาวนาสร้างหนี้ท่วม" แนะแก้โครงสร้างปัจจัยการผลิต
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 17 สิงหาคม 2554 เวลา 18:32 น.
เขียนโดย
ธิดามนต์ พิมพาชัย
หมวดหมู่
'จิตติ' แนะรัฐบาล ให้เครดิตเฉพาะชาวนาที่พร้อม เผยพักหนี้-จำนำข้าว ก่อหนี้เสีย 5 หมื่นล้าน ควรเร่งสร้างวินัยการเงิน -บัญชีครัวเรือน แก้ปัญหาจริง 'วิฑูรย์' ติงไม่ตอบโจทย์แก้โครงสร้าง-การตลาด-พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร
จากนโยบายจำนำข้าวพ่วงบัตรเครดิตชาวนา ซึ่งเป็นหนึ้่งในประชานิยมเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล ที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งค้านและสนับสนุนนั้น ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา อดีตเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชิวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม (สปกช.) เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า บัตรเครดิตชาวนาเป็นหลักการที่ดีที่จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินลงทุน แต่ระบบคัดกรองต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่ให้ทุกคน เพราะแต่ละคนมีความพร้อมในการใช้เครดิตไม่เท่ากัน ไม่เช่นนั้นจะกลับไปสู่ระบบเดิม คือการกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้บัตร กลายเป็น วัฏฏะจักรความยากจน และท้ายที่สุดจะตกเป็นภาระของรัฐบาลอีกเช่นเดิม
"ในปี 2553 รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร) กว่า 5 หมื่นล้านบาท ในโครงการพักชำระหนี้ และขาดทุนจากโครงการรับจำนำ โครงการประชานิยมทำให้เกิดหนี้เสียมากมายเพราะประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะมาจ่ายให้"
อดีตเลขา สปกช. กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาหนี้ ไม่ควรเพิ่มรายได้ หรือเพิ่มทุน แต่ควรลดรายจ่าย เพราะถ้าเกษตรกรไม่มีความสามารถในการจัดการทุนจะยิ่งเกิดความเสี่ยง และเครื่องมือที่ช่วยในการลดรายจ่ายที่ได้ผลดี คือ การทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งจะทำให้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายทั้งหมด
เมื่อทำในระดับชุมชนก็จะเห็นภาพรวม เช่น หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งมียอดซื้อข้าวสารสูงถึง ปีละ 10 ล้านบาท ทำให้เกิดโครงการปลูกข้าวเพื่อลดรายจ่าย ส่วนอีกหมู่บ้านหนึ่ง ได้ลงทุนทำถังหมักแก๊สชีวภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องแก๊ส ครัวเรือนละ 100 บาทต่อเดือน มีเงินเหลือออม ที่ผ่านมาเคยมีโครงการในลักษณะการทำบัญชีครัวเรือนทั้งจาก ธกส. และหน่วยงานอื่นๆ แต่ขาดการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอด
ทั้งนี้ การดำเนินงานในระดับชุมชน ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชน และชุมชน เพื่อทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่นเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เคยทำนโยบายนี้ ต้องเข้ามาดูแล พร้อมกับยกร่างการเรียนรู้ให้กับเกษตรกร โดยรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน และนักวิชาการที่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ควบคู่กับสร้างวินัยให้กับเกษตรกร เพราะการทำนาปัจจุบันเป็นระบบการจ้างงาน ทำให้เกิดต้นทุนมาก ในขณะที่วินัยการใช้เงินเสื่อมถอย
ทางออกคือ เกษตรกรควรเปลี่ยนมาใช้การเกษตรแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่ในการปลูกพืชหลากหลายชนิด จะทำให้มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน ไม่ต้องแย่งแรงงานเหมือนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั่วไป เพราะเก็บผลผลิตไม่พร้อมกัน เกิดการกระจายตัวของสินค้า ไม่เกิดภาวะล้นตลาด และช่วยลดต้นทุน
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตในระยะยาว แต่ทำลายกลไกตลาด เพราะให้อำนาจโรงสีมากเกินไป เกิดปัญหาคอรัปชั่น และเม็ดเงินอย่างน้อยร้อยละ 25 จะตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ไม่ลงไปถึงเกษตรกรตัวจริง ส่วนบัตรเครดิตชาวนา จะผลักดันให้เกษตรกรหันมาใช้ปัจจัยการผลิตที่รัฐกำหนดมากเกินไป โดยเฉพาะยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง อย่างไม่มีทางเลือก
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีเสนอทางออกว่า หากต้องใช้นโยบายดังกล่าว ควรให้เกษตรกรเป็นผู้เลือกปัจจัยการผลิตเองโดยไม่จำกัดว่าจะใช้ปุ๋ยชนิดใด ร้านค้าใด เปิดโอกาสให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเงินตราไม่ไหลออกนอกประเทศ และควรพิจารณาการตั้งราคารับจำนำใหม่ หากสูงเกินไป อาจส่งผลต่อระบบการเกษตรอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ จะเสียโอกาส เพราะราคาสูงขึ้นเท่าราคารับจำนำ ในขณะที่สินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีราคาเท่าเดิม หรือผู้ปลูกพืชสวนครัวอื่นๆ จะเสียโอกาส แม้จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดการสูญเสีย
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาเกษตรกรไม่ใช่แค่ราคาพืชผล นโยบายที่ดีจึงควรแก้ไปปัญหาทั้ง 3 ประการคือ คือ ประการที่ 1 ปัญหาเชิงโครงสร้างปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน ชาวนาไทยเช่านาทำกว่า 60 % ที่ผ่านมา นโยบายประกันราคา ทำให้เจ้าของที่นาหันมาทำนาเองหลายราย แต่นโยบายจำนำข้าวอาจมีการขึ้นค่าเช่า ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น น้ำ ปัจจุบันพื้นที่ทำนาของเกษตรกรอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ กว่า 80% อยู่นอกเขตชลประทาน และเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยเคมีและปัจจัยอื่นๆ มีราคาสูงเกินไปผลประโยชน์ส่วนใหญ่ อยู่กับพ่อค้าคนกลาง หรือผู้ผลิต ประการที่ 2 ปัญหา กลไกการตลาด
ประการสุดท้าย คุณภาพชีวิตเกษตรกร รัฐบาลควรนำงบประมาณจากนโยบายจำนำข้าว และบัตรเครดิตชาวนาไปพัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้ การพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เพื่อยกระดับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร สวัสดิการด้านพยาบาล และสุขภาพอนามัยอื่นๆ ตลอดจนการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาด เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ .