‘เมื่อถึงจุดหนึ่งผมก็หยุด’ บุญชู ตรีทอง เปิดใจเหตุใดหันมาปลูกปัญญา ทุ่มให้การศึกษา
“ถามว่า นักการเมือง พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ หรือปรัชญาการเมืองใหม่ๆ อะไรออกมาบ้าง ผมไม่เห็นมีอะไรใหม่ในความคิดหรือปรัชญาทางการเมือง จะพัฒนาคนอย่างไร ทำไมไม่คิดปลูกปัญญาให้กับลูกหลาน ”
นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2557 ประกาศยกย่อง 48 สุดยอดคนใจบุญจาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Heroes of Philanthropy) โดยปีนี้ดีตนักการเมืองชื่อดัง “บุญชู ตรีทอง” ติด 1 ใน 4 รายชื่อที่เป็นคนไทย หลังจากที่เขาบริจาคทรัพย์สินกว่า 25% เพื่อการศึกษา โดยบริจาคที่ดิน 365 ไร่ บริเวณอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รวมถึงบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านบาทสร้างอาคารเรียนหลังแรก รวมไปถึงการสร้างห้องสมุด และให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะมาเป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในอนาคต
“บุญชู ตรีทอง” เปิดบ้านทรงไทยขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลำปาง-ห้างฉัตร จ.ลำปาง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และบอกความรู้สึกกับรางวัลดังกล่าว
"แค่นี้ก็ปลื้มแล้ว" ก่อนบ่นแบบน้อยใจ “ผมสร้างห้องสมุดเกือบทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาตั้งแต่ปี 2530 ไม่เห็นลงเลย ลงแต่บริจาคให้แต่ธรรมศาสตร์” เขากล่าว พร้อมเสียงหัวเราะ
จากนั้น เขาเล่าถึงเกร็ดประวัติเล็กๆ ช่วงชีวิตที่ผ่านมาว่า โดยบอกว่า "ผมมีโชคเพราะได้เตรียมการมาเป็นอย่างดี (Luck is Preparation) บวกกับความอึด อดทน หนักเอาเบาสู้"
“ผมเป็นนักเรียนทุนจังหวัด ไปเรียนกรุงเทพ จบปริญญาตรีฟิสิกส์ ก่อนไปต่อโทด้านวิศวะโทรคมนาคม ตอนเรียนผมมองแล้วว่า เป็นความจำเป็นของประเทศชาติ และความจำเป็นของชีวิตผม เพราะผมอยากรวย!! ผมใช้เวลา 13 ปี สำหรับโครงการเดียว บางครั้งผมทำงานถึง 3 แห่ง เช้าทำงานองค์การโทรศัพท์ เย็นทำงานบริษัท บางวัน เช่น ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ต้องไปสอนพิเศษตามมหาวิทยาลัยเอกชน ผมเก็บหอมรอมริบพอใช้หนี้ และทำโครงการไปด้วย”
อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในยุคบรรหาร ศิลปอาชา เล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยรับซ่อมเครื่องมือสื่อสารครั้งละ 1-2 หมื่นบาท ก่อนขยับมาเป็น 4- 5 หมื่นบาท และแสนบาทตามลำดับ กระทั่งอยู่มาปีหนึ่งโอกาสก็มาถึง เขากระโดดขายสินค้าจาก 2-3 แสนบาท ไปขาย 40 ล้านบาท จากนั้นอีก 7 ปี ก็เริ่มขายของมูลค่า 2,500 – 3,000 ล้านบาท และทำอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อถึงจุดหนึ่งผมก็หยุด เพราะเห็นว่า ยังไงๆ ก็มีลูกคนเดียว หันมาทำงานสังคมตั้งแต่ปี 2530 เช่น สร้างห้องสมุดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกือบทุกอำเภอ”
นักการเมืองรุ่นเก๋า วัยใกล้ 70 เล่าด้วยความภาคภูมิใจ ขณะที่ภรรยาคู่ใจ และลูกสาวคนเดียว ก็เห็นพ้องกับเรื่องที่เขาหันทำทุ่มเทเรื่องการศึกษา
“ปัจจุบันนี้ผมแทบไม่มีธุรกิจอะไร นอกจากธุรกิจของลูกสาว แถมลูกสาวผมทำท่าไม่ยอมแต่งงาน เขาบอกอยู่กับพ่อแม่ก็มีความสุขแล้ว ผมจึงไม่คิดสร้างอาณาจักรอะไร ที่ดินที่มีเยอะก็กำลังประกาศขาย เพื่อมอบให้กับเรื่องการศึกษา”
พร้อมกับได้ยกคำกล่าวของ “ขงจื๊อ” นักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน มากล่าว
“หากเจ้าวางแผนไว้ 1 ปี จงปลูกข้าว
หากเจ้าวางแผนไว้ 10 ปี ก็จงปลูกต้นไม้
หากเจ้าวางแผนไว้ 100 ปี จงปลูกปัญญาให้กับลูกหลาน”
นักการเมืองรุ่นลายคราม ที่วันนี้บอกว่า ตนเองเป็นแค่พลเมืองตัวเล็กๆ วางมือทางการเมืองแล้ว เห็นว่า การปลูกปัญญา มีแต่มูลค่าเพิ่ม...
“ผมไม่ได้เป็นเศรษฐีอันดับท็อปของประเทศไทย หรือแม้แต่ของจังหวัดลำปางก็ไม่ใช่ แต่ผมมีความมุ่งมั่นที่อยากให้หลายๆ คนตระหนักถึงเรื่องการสร้าง “คน” นั้นสำคัญ หากคนในบ้านเราได้รับการศึกษาน้อย บ้านเมืองก็จะปั่นป่วนวุ่นวายแบบนี้ แบ่งพรรคเป็นพวก แบ่งสี ขณะที่บางคนเรียนสูงจริงแต่ก็ขาดจริยธรรม ขาดมโนธรรม โกงบ้าน โกงเมือง และเอาเปรียบสังคม”
สำหรับความตั้งใจในอนาคต เขาบอกว่า จะสร้างอาจารย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มีแต่ระดับปริญญาเอกทั้งหมด
“มหาวิทยาลัยออกทุนครึ่งหนึ่ง ผมออกทุนครึ่งหนึ่ง จนกว่าจะมีอาจารย์ระดับปริญญาเอกครบทั้งหมด เพราะผมเห็นว่า การสร้างมหาวิทยาลัยไม่ใช่สร้างแต่ตึก อาคาร ถนน หรือแค่มีไฟฟ้าใช้ แต่อาจารย์สอนกลับขาดคุณภาพก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นผมจึงให้ทุนอาจารย์ระดับปริญญาเอก และมีข้อแม้ต้องมาสอนที่ลำปาง
เรื่องการสอนให้คนเข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ เข้าใจเงินเดินสะพัด ตัวเลข GDP ความรู้เรื่องการเงินการคลัง การธนาคาร สำคัญมากสำหรับคนในต่างจังหวัด ถามว่า ทนายความที่สามารถทำคดีข้อสัญญาระหว่างประเทศ การฟ้องร้องระหว่างบริษัทไทยกับต่างประเทศ ที่ลำปางมีกี่คน เพราะครีมทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่นักบัญชี มีกี่บริษัทในลำปาง ดังนั้นทั้งหมดต้องได้รับการส่งเสริม”
ในฐานะที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย 3 สมัยติดต่อกัน (2538 – 2540) “บุญชู ตรีทอง” ให้มุมมองเรื่องการศึกษาไทยด้วยว่า สมัยนั่งรมต.สมัยนั้นการศึกษาไทยมีสาขาวิชาที่ขาดแคลนมี 17 วิชา ถึงปัจจุบัน 2557 สาขาวิชาที่ขาดแคลนมากกว่า 17 วิชาอีก
“จะมาบอกไทยไม่ลงทุนด้านการศึกษา ผมไม่ใช่ เราลงทุนเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่คุณภาพตกอยู่อันดับท้ายๆ” โดยจุดด้อยของการศึกษาไทย เขาเห็นว่า อยู่ที่คุณภาพของครู เรายอมรับกันหรือไม่ว่า คนที่เป็นครูทุกวันนี้ เพราะสอบเข้าคณะอื่นๆ ไม่ได้แล้ว จึงมาเป็นครู มีครูมากแต่คุณภาพไม่ได้ไปด้วยกัน
ส่วนปัญหาบ้านเมือง นักการเมืองรุ่นเก๋า เห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่บ้านเมืองวุ่นวาย เกิดจากนักการเมือง 2 กลุ่ม ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากเรื่องคอร์รัปชั่นแทบทั้งนั้น
“ถามว่า นักการเมือง พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ หรือปรัชญาการเมืองใหม่ๆ อะไรออกมาบ้าง แม้แต่ระบอบประชาธิปไตยเราก็ลอกจากต่างประเทศมา ใครมาเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ ไล่ตั้งแต่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนถึงปัจจุบันจะทำโน้นนี่นั่น ก็เกี่ยวกับการก่อสร้างทั้งนั้น
ผมไม่เห็นมีอะไรใหม่ ในความคิดหรือปรัชญาทางการเมือง จะพัฒนาคนอย่างไร ทำไมไม่คิดปลูกปัญญาให้กับลูกหลาน ”
เมื่อถามถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดไว้ชัดเจน มีกรอบให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต ในมาตรา 35 ต่อไปนี้คนซื้อเสียง หากพิสูจน์ได้ว่า หากนักการเมืองซื้อจริง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี อย่างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว แต่เสี่ยงมากที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต
นายบุญชู แสดงความเห็นด้วยว่า ก็ดี ก่อนจะถามกลับว่า แล้วนอมินี เราจะทำอย่างไร คนที่มีอิทธิพลต่อให้ไม่ลงเล่นการเมือง ที่ผ่านมาขนาดคนขับรถก็ยังลงส.ส.ได้
เมื่อถามต่อถึงการเข้ามาบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช เขาเลี่ยงที่จะตอบ
“ผมว่าจะไม่พูดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถนอมตัวเหมือน "ป๋าเปรม" พูดให้น้อย พูดมากเมื่อไหร่เปิดช่องโหว่เมื่อนั้น วิธีคิดผมชอบนะ แต่ไม่ต้องพูดได้ไหม จักรพรรดิเวลาจะออกรบไม่บอกใครหรอก ทำทำเลย
เรื่องที่ผมเห็นว่า โอเค ทำเรื่องจำนำข้าวดีมาก แต่ทำไมต้องไปยุ่งกับ วินมอเตอร์ไซต์ ล็อตเตอรี่ หรือไปมอบเงินให้ชาวนา ผมว่าเรื่องนี้เล็กๆ ทหารไม่ควรไปยุ่ง หรือ อย่างจับ เสธ.เจมส์ (พล.ต.เจนรณรงค์ เดชวรรณ นายทหารผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในข้อหาเรียกเก็บส่วยพ่อค้าแม่ค้าย่านพัฒน์พงศ์) อันนี้ผมว่าดีมาก ทหารไม่เข้าข้างทหารเลว รวมไปถึงควรเร่งรัดคดีที่อยู่ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือนักการเมืองที่คุมกระทรวงหนึ่งมาเป็นสิบๆ ปี ทำไมไม่เข้าไปจัดการ”
ก่อนจะจบบทสนทนา “บุญชู ตรีทอง” ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศ แม้จะเขียนกฎเกณฑ์ กติกา ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วอย่างดี แต่ต้องถามด้วยว่า กฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา เราทำตามได้หรือไม่ จะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ฉะนั้น กติกาต้องรักษาให้ได้