'กานต์ ฮุนตระกูล' ผู้บริหารเอสซีจี กับแนวคิดเรียนเก่งแล้วต้องรู้จักแบ่งปัน
เมื่อเราเคยเป็น “ผู้รับ” หากวันใดก็ตามที่มีโอกาสเป็น “ผู้ให้” สิ่งแรกจะต้องรู้จักแบ่งปันให้กับครอบครัวตัวเองให้ได้ก่อน แล้วหันมาแบ่งปันให้ผู้อื่นและสังคม
“เรียนเก่งแล้วก็ต้องรู้จักแบ่งปันด้วย” กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวย้ำถึงวิสัยทัศน์ ที่สะท้อนภารกิจที่นอกจากสร้าง “แบรนด์” 100 ปี เอสซีจี แล้ว ภารกิจสร้าง “คน” เขาได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ในงาน scg sharing the dream '33 ปี กับการให้โอกาสทางการศึกษาเยาวชน ณ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 10 บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กทม. เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา "กานต์ ตระกูลฮุน" ได้แชร์ประสบการณ์ พร้อมเล่าเรื่องราวในวัยเด็กเกี่ยวกับการศึกษาของตัวเองตั้งแต่สมัยมัธยม มัธยมปลาย กระทั่งสอบเข้ารั้วมหาวิทยาลัย
เขาเล่าว่า สมัยเด็กๆ เขาต้องเริ่มคิดจะเรียนที่ไหนถึงจะประหยัดเงิน ซึ่งสมัยก่อนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาค่าเทอมไม่ได้แพงมาก ทางบ้านสามารถที่จะจ่ายไหวเพราะนั่งรถเมล์แค่ต่อเดียวก็ถึงโรงเรียนเลย แต่พอเริ่มเรียนสูงขึ้นไปก็มีความมุ่งมั่นว่า จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว จะต้องสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ได้
“สมัยก่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์ไม่ได้มีทุกที่ ตอนนั้นก็มีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เชียงใหม่ มาคิด ถ้าไปเชียงใหม่ก็ไกลต้องเสียทั้งค่าเทอม ค่ากิน ค่าหอ ซึ่งฐานะทางบ้านถ้าต้องรับผิดชอบเราขนาดนั้นลำบากแน่ เลยมามองที่จุฬาฯ กับเกษตรศาสตร์ แต่เกษตรศาสตร์สมัยก่อนเดินทางลำบาก เลยเลือกสอบแค่ที่เดียวคือที่จุฬาฯ เพราะกลัวเปลืองก็เลยเลือกแค่จุฬาฯ ที่เดียว คือได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่รู้ล่ะ” ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี เล่าไปหัวเราะไป ด้วยเขาเห็นว่า โชคดีที่เลือกที่เดียวแล้ว ก็สอบติด
เมื่อสอบเข้าไปเรียนได้แล้ว สมัยก่อนไม่ได้มีทุนการศึกษามากมายเท่าปัจจุบันนี้ การจะหาทุนได้แต่ละทุน นับเป็นเรื่องยากลำบากมาก ผู้บริหารเอสซีจี เล่าต่อว่า ตอนเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ยังไม่สามารถที่จะขอทุนได้ เพราะต้องเรียนให้พ้น 1 ปีไปก่อน หลังจากนั้นจึงไปสอบแข่ง ซึ่งสมัยก่อนมหาวิทยาลัยให้ปีละ 2 ทุนเท่านั้น
“เราก็โชคดีได้ทุนติดต่อกัน 3 ปี ไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต จนกระทั่งเรียนจบ ซึ่งในรุ่นเราก็อยู่อันดับหนึ่งมาตลอด ถือเป็นความโชคดีที่เราขยันตั้งใจเรียน" กานต์ ตระกูลฮุน บอก และว่า สาเหตุที่ทำให้เขาเรียนเก่ง อาจเพราะการเป็นติวเตอร์ให้กับเพื่อนๆ โดยเฉพาะในวิชาค่อนข้างยาก ถ้าสมัยนั้นไม่ช่วยกันติว ไม่ช่วยกันเรียน ไม่ช่วยกันทำรายงาน หลายคนคงโดนรีไทร์ (พ้นสภาพนิสิตนักศึกษา) กันเยอะ
การที่ได้เป็นผู้รับมากๆ เขาบอกว่า ก็มีความรู้สึกอยากให้ ยิ่งพอมาเป็นผู้บริหารที่เอสซีจี โดยตำแหน่งทำให้ต้องเป็นประธานมูลนิธิเอสซีจีด้วยนั้น ยิ่งรู้สึกดีมากขึ้น
“สมัยนี้เด็กๆ มีโอกาสทางการศึกษา รัฐบาลให้เรียนฟรี แต่เราเข้าใจนะว่าคำว่าฟรีอย่างไรก็มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยก็ค่ากินค่าอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เอสซีจีจึงอยากเห็นว่า นี่คือการที่น้องๆที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้เรียนหนังสือ มีงานทำ และดูแลครอบครัวได้ไม่ต้องเป็นภาระให้กับสังคม”
ไม่แปลกใจ เอสซีจี ยุค "กานต์ ตระกูลฮุน" จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาคน มีการมอบทุนการศึกษาให้ทั้งในประเทศไทย 4,000 ทุน และประเทศในกลุ่มอาเซียน มอบปีละ 1,500 ทุน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยหลักเกณฑ์การให้ทุนที่เอสซีจีมอบให้นั้น เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน
“เราเพียงต้องการให้นักเรียนทุนมีหลักประกันด้านการศึกษาว่าจะสามารถเรียนจบตามที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ของครอบครัวเป็นหลัก การขาดผู้อุปการะดูแล เด็กที่เข้าโครงการหรือได้รับทุนไม่จำเป็นที่ต้องมีผลการเรียนเป็นเลิศขอเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทุนที่ให้ ก็ไม่ใช่ทุนต่อเนื่อง ทุกปีจะติดตามผลการเรียน ถ้าไม่ถึง2.5 ก็อาจจะไม่ได้รับต่อ” ประธานมูลนิธิฯ ระบุ และว่า เอสซีจีได้ทำการศึกษาพบว่า ตลาดแรงงานขาดแคลน คือ เด็กสายอาชีพมาก เราจึงคิดว่าจะต้องทำอย่างไรให้เด็กหันมาเรียน ซึ่งก็พบว่าอย่างแรกต้องสร้างภาพพจน์สายอาชีพให้ดีขึ้นก่อน หลังจากนั้นถ้าจบออกไปทำงาน เรียนอาชีวะจะประกอบอาชีพได้เร็วกว่า รวมทั้ง มีโอกาสสำเร็จค่อนข้างมาก
ทั้งหมดสะท้อนวิสัยทัศน์ ผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งชีวิตผ่านการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับมาโดยตลอด...