แนะ คสช.หารูปแบบความสัมพันธ์ใหม่กับ "สำนักจุฬาฯ" แทนตั้งเป็น สนช.
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอชื่อ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
และเมื่อ นายอาศิส ได้ทำหนังสือปฏิเสธการรับตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม ไม่ควรมีสถานะในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับผู้นำสูงสุดของศาสนาอื่นในประเทศไทย...ก็ยังคงมีเสียงวิจารณ์ไปต่างๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความเรื่อง จุฬาราชมนตรีกับตำแหน่งทางการเมือง ตีพิมพ์ในคอลัมน์ โลกมุสลิม ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 8 ส.ค.2557 โดยได้แสดงทัศนะในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
เนื้อหาในบทความระบุว่า "จุฬาราชมนตรีถือเป็นตำแหน่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน เป็นสถาบันเก่าแก่ที่มีบทบาททางธรรม คือเป็นผู้นำศาสนาในประเทศไทยในด้านกิจการศาสนาอิสลาม บทบาทหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีมีการเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
โดยปัจจุบันจุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์การศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 คือให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการอิสลาม แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลาม ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา และประกาศข้อวินิจฉัยตามบทบัญญัติอิสลาม
ในฐานะผู้นำสูงสุดทางศาสนา เหมาะสมแล้วครับที่จุฬาราชมนตรีได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะแม้ว่าโดยทางหลักการ มุสลิมไทยจะคาดหวังให้จุฬาราชมนตรีทำหน้าที่ทั้งทางโลกและทางธรรม ขณะที่อิสลามก็มิได้แยกศาสนาออกจากการเมือง แต่การมีตำแหน่งสถานะทางการเมืองของจุฬาราชมนตรี กับการมีหน้าที่ทางการเมืองในฐานะผู้นำศาสนานั้นมีความแตกต่างกัน
การมีหน้าที่ทางการเมืองในฐานะผู้นำศาสนา หมายถึงการที่จุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิของประชาคมมุสลิมในฐานะผู้นำศาสนา มิใช่ปกป้องสิทธิของมุสลิมในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่สำคัญคือ ผู้นำทางศาสนาไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดควรวางตัวเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มิเช่นนั้นแล้วก็อาจนำมาซึ่งปัญหามากมาย เพราะหากลำเอียงแล้ว นอกจากจะทำให้สังคมมุสลิมไทยแตกแยก สำนักจุฬาราชมนตรีเองก็อาจสูญเสียภาพลักษณ์จนไม่ได้รับความน่าเชื่อถืออีกต่อไป
ผลเสียที่จะตามมาอีกประการจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของจุฬาราชมนตรี คือ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอาจถูกมองว่ากลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายของรัฐ แน่นอนว่าสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งก็มีข้อดีอยู่หลายประการ เช่น ได้รับจัดสรรงบประมาณอุดหนุน และก่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดในการดำเนินกิจการบ้านเมือง ฯลฯ
แต่โดยหลักการแล้ว การที่รัฐเข้ามาครอบงำกำกับสถาบันศาสนา จนทำให้สถาบันศาสนาเป็นกลไกหนึ่งของเครื่องจักรที่มีความสลับซับซ้อนในระบบราชการของรัฐชาติสมัยใหม่ อาจทำให้สถาบันศาสนาอยู่ในภาวะหยุดนิ่ง ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันศาสนาเสื่อมคลาย ฉะนั้นหากสถาบันศาสนาจะสามารถเป็นที่พึ่งของสังคมมุสลิมภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบันได้ สถาบันศาสนาก็ต้องเป็นอิสระจากรัฐ ดำรงอยู่ในความเป็นตัวของตัวเอง โดยยึดหลักการศาสนาอย่างเที่ยงตรง
ด้วยเหตุนี้ แทนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะคิดเฉพาะเรื่องการมอบตำแหน่งทางการเมืองให้จุฬาราชมนตรี อันเป็นสัญลักษณ์ของการดึงมวลชนมุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ในระยะยาว คสช.ควรศึกษาพิจารณาว่าจะสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์อย่างไร ระหว่างสำนักจุฬาราชมนตรีกับรัฐ เพื่อให้จุฬาราชมนตรีดำเนินบทบาทได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว และเป็นอิสระ ไม่ผูกติดกับระบบราชการจนเกินไป และไม่ใช่สถาบันที่เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้นโยบายของรัฐ
หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะทำให้ผู้นำสูงสุดทางศาสนาทำหน้าที่นำคุณค่าของอิสลามมาเป็นหลักในการพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริงภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศราวุฒิ อารีย์
หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา