ไพโรจน์ พลเพชร : ผ่าวิกฤตร่างกม. ภาคประชาชนที่ถูกลืม ในอุ้งมือ"คสช."
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หวั่นร่างกม.ฉบับประชาชน 20 ฉบับไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะ 38 ฉบับที่ คสช. เสนอต่อสนช. มีเพียง 4 ฉบับ เกี่ยวพันกับภาคประชาชน ระบุ แม้มีร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม-กองทุนสื่อ แต่ไม่ใช่ฉบับที่ร่างโดยประชาชน ลั่น กฎหมายของประชาชนควรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักการประชาธิปไตย
เมื่อเร็วๆ นี้ นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงบทบาทของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ( คปก. ) ต่อการติดตามพิจารณาร่างกฎหมายภาคประชาชนทั้งที่ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว 20 ฉบับ และที่อยู่ระหว่างการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งปรากฎว่าร่างกฎหมายทั้ง 38 ฉบับ ที่ คสช. เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้นำมาพิจารณานั้น ไม่มีร่างกฎหมายของภาคประชาชนถูกบรรจุรวมไว้ในการพิจารณา
นายไพโรจน์กล่าวว่า ร่างกฎหมายภาคประชาชนที่ผ่านการเข้าชื่อแล้วกว่า 20 ฉบับ ที่ตกไปเนื่องจากการยุบสภา และมีการยึดอำนาจในเวลาต่อมานั้น คปก. จะต้องยืนยันกับรัฐบาลซึ่งในขณะนี้คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นำมาพิจารณาต่อจากกระบวนการเดิมที่ร่างกฎหมายแต่ฉบับดำเนินการค้างอยู่
เนื่องจากขั้นตอนตามกฎหมายพระราชบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญเดิม กำหนดว่าเมื่อยุบสภาแล้ว ร่างกฎหมายที่พิจารณาค้างอยู่ รวมทั้งกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลใหม่ก็ต้องเสนอร่งกฎหมายเหล่านั้น ยืนยันต่อรัฐสภา เพื่อขอให้สภาฯให้ความเห็นชอบ
“พิจารณาค้างอยู่ขั้นตอนไหนก็ต้องเดินต่อจากขั้นตอนนั้น รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาภายหลังจากการยุบสภา ต้องให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ และเดินหน้าต่อจากกระบวนการพิจารณาที่ค้างอยู่ทั้งหมด รวมถึงกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ค้างอยู่ขั้นตอนกระบวนการไหน ก็ให้เดินต่อตามกระบวนการนั้น"
"แต่ตอนนี้ ปัญหาคือ เมื่อมีการรัฐประหาร ก็ต้องดูรายละเอียดว่า ร่างกฎหมายภาคประชาชนที่รอการพิจารณาค้างอยู่ในกระบวนการไหนบ้าง มีทั้งที่อยู่ในกระบวนการระหว่างรอให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และมีทั้งกลุ่มที่ยื่นเข้าสภาฯ ไปแล้วก่อนเกิดรัฐประหาร คือมีทั้งร่างกฎหมายที่ยื่นเข้าสภาไปแล้ว กับร่างกฎหมายที่ยังไม่ยื่นเข้าสู่สภา และที่ยังรอประชาชนเข้าชื่อเสนอ” นายไพโรจน์ระบุ
เมื่อถามว่า กรณีที่ สนช. จะพิจารณาร่างกฎหมาย 38 ฉบับ มีร่างกฎหมายฉบับใดที่เป็นของภาคประชาชนเสนอเข้ามาหรือไม่
นายไพโรจน์กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบดูในตอนนี้ ไม่มีร่างกฎหมายที่เป็นร่างของภาคประชาชน แต่มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนคือร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) และร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ซึ่งเดิมทีกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และร่างกฎหมายภาคประชาชนทั้ง 2 ฉบับนี้ ก็เข้าไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อเข้าไปสู่วาระที่ 2 แล้ว
"ปรากฏว่าร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อฯ ที่ได้รับการยืนยัน กลับเป็นร่างกฎหมายฉบับที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ กล่าวคือเป็นร่างฉบับที่เป็นของรัฐบาลไม่ใช่ฉบับที่ร่างโดยประชาชน"
นายไพโรจน์กล่าวว่า ร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อฯที่ประชาชนอยากได้ คือร่างฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการที่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
"ประชาชนอยากให้ร่างที่เขามีส่วนร่วมได้รับการพิจารณา ส่วนกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนอยู่ในชั้นไม่รับหลักการในสภาฯ คือถูกตีตกไปแล้ว ดังนั้น ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่จะถูกนำมาพิจารณาในครั้งนี้ จึงไม่ใช่ฉบับที่ร่างโดยภาคประชาชนอีกเช่นกัน ส่วนอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนของภาคประชาชนคือร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และ ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ฉบับที่ คสช. เสนอต่อ สนช. ก็เป็นคนละฉบับกับที่ภาคประชาชนเสนอ"
“เหล่านี้คือ ร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ที่เกี่ยวกับภาคประชาชน แต่รัฐบาลซึ่งก็คือ คสช. เสนอไปที่ สนช. 38 ฉบับนั้น ไม่ใช่ร่างกฎหมายของภาคประชาชนเป็นร่างของรัฐบาลทั้งหมด ปัญหาคือร่างกฎหมายของประชาชนจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ เพราะร่างกฎหมายของภาคประชาชนถือว่าอยู่ในขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย” นายไพโรจน์ระบุ
ภาพประกอบจาก : http://www.lrct.go.th