“ผมสนใจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผมจะพยายามผลักดัน”: ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์
"กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็เหมือนการเลือกตั้งระดับประเทศที่ท้ายสุดก็ต้องเดินต่อ หนีไม่ได้ ไม่มีทางดึงช่วงเวลาเฉพาะกาลไปได้นานกว่านี้ 1-2 ปี ก็อย่างเก่งที่สุด"
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวกับสื่อมวลชนถึงการประชุม สนช.โดยที่ประชุมเลือกนายพรเพชร วิชิตชลชัย ดำรงตำแหน่งว่าที่ประธาน สนช. ว่า คุณสมบัติจบปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเนติบัณฑิตไทย และปริญญาโทด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการทำงานผ่านหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านการทำงานมามาก เชื่อว่า ท่านจะดำรงตำแหน่งประธานสนช.ได้ดี
“แน่นอน การเป็นผู้พิพากษากับการเป็นประธานสนช. อาจแตกต่างกัน แต่อย่าลืมท่านพรเพชรก็เคยเป็นสนช.มาแล้ว ซึ่งการปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสมาชิกจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องดูไปก่อน ส่วนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง และนายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่สอง นั้น ซึ่งมีประสบการณ์มาก อาจจะช่วยได้ดี”
เมื่อถามถึงอธิการบดีที่เข้ามาเป็นสนช.จะผลักดันเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า เรื่องสำคัญ คือ กระจายอำนาจทางการศึกษา ทำการศึกษาให้ดีขึ้น โดยกลุ่มอธิการบดีมี 10 กว่าคน ถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ รองมาจากสนช.กลุ่มทหารที่มี 105 คน
“เราจะดูเรื่องการศึกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปฏิรูปการศึกษา”
เมื่อถามถึงเรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีการคุยกับกลุ่มอธิการบดีซึ่งเป็นสนช. และไม่เห็นคนสนใจเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
“แต่ส่วนตัวผมสนใจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผมจะพยายามผลักดัน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็เหมือนการเลือกตั้งระดับประเทศที่ท้ายสุดก็ต้องเดินต่อ หนีไม่ได้ ไม่มีทางดึงช่วงเวลาเฉพาะกาลไปได้นานกว่านี้ 1-2 ปี ก็อย่างเก่งที่สุด”
ศ.ดร.สมคิด กล่าวถึงกรอบการร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ค่อนข้างสั้นมาก กำหนด 120 วัน สั้นที่สุดตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญมา ซึ่งปี 2540 ให้ 240 วัน ปี 2550 ให้ 180 วัน “เป็นการกำหนดเวลาให้สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
และเมื่อถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ล็อกสเปกหรือไม่ อธิการบดีมธ. เห็นว่า ไม่ แต่เขียนสเปกไว้เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี แต่คนไปทำจะทำยากมาก เช่น ไม่ให้มีประชานิยม ถามว่า เราจะไปเขียนกฎหมายกันประชานิยมได้อย่างไร
สุดท้ายเมื่อถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ อธิการบดีมธ. เห็นว่า “ระยะนี้เป็นระยะที่เป็นประเทศมีปัญหา ไม่ใช่เราจะเป็นเผด็จการไปอีก 100 ปีในประเทศไทย ผมไม่คิดว่าเป็นแบบนั้น เพียงแต่ประเทศไทยมีปัญหาความวุ่นวายตลอดช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่คือ ทำอย่างไรให้เราเริ่มต้นใหม่ได้ดี”