ดร.นคร จันทศร แนะผ่าโครงสร้างรถไฟไทย เริ่มแรกลดภาระงานผู้ว่าฯ ให้เล็กลง
วสท.-สวทช. เสนอปฏิรูปองค์กรขนส่งทาง ตั้ง "กรมขนส่งทางราง" ดูแลการก่อสร้าง บริหารจัดการ ส่วน "สถาบันระบบรางขนส่งทางรางแห่งชาติ" ให้วางแผน เสนอแนะ และพยากรณ์แนวโน้มเทคโนโลยีขนส่งทางรางในอนาคต
เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และสมาคมวิชาการเทคนิคไทย-ฝรั่งเศส (tfta) จัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางระบบขนส่งทางรางของไทย: การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปัญหาอุปสรรคและงานสำคัญที่ควรเร่งรัด” ณ ห้องประชุมยงยุทธ สาระสมบัติ ชั้น 5 อาคารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
ดร.นคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า 117 ปีเต็มของการมีรถไฟ ประเทศไทยมีเส้นทางการเดินรถไฟ 4,000 กิโลเมตร นอกนั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาถนนซึ่งพัฒนาไปถึง 93% ถ้าเส้นทางเดินรถไฟยังพัฒนาได้แค่นี้อย่าคาดหวังจะให้การรถไฟทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องยาก ขอให้ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่า หน่วยงานราชการเวลาอนุมัติโครงการส่วนใหญ่เป็นการอนุมัติโดยคนที่ไม่รู้เรื่องรถไฟเกิดการผิดพลาดในการบริหาร เราไม่ได้พัฒนาข้าราชการให้มีความรู้เรื่องรถไฟ แต่กลับให้มานั่งพิจารณาโครงการ บ้างก็ตั้งเป็นบอร์ดบริหารสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นที่มาว่า 65 ปีการรถไฟที่ผ่านมาพัฒนาเส้นทางเพิ่มได้แค่ 600 กิโลเมตร พอเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลทีก็จะมีผู้เชี่ยวชาญออกมากันมากมายทำให้รัฐบาลเขวและไม่รู้จะเดินต่อไปยังไง
“สิ่งที่ผิดหรือเป็นอุปสรรคในเรื่องของระบบรางรถไฟ คือ เรื่องของมาตรฐานขนาดรางว่าจะต้องมีขนาดเท่าไหร่ สแตนดาร์ดเกจ หรือมีเดียม ซึ่งขนาดสแตนดาร์ดก็คือ 1.435 เมตร มีเดียมก็คือขนาดราง 1 เมตร ซึ่งขนาดราง 1 เมตร มีมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาของเราก็เป็นสแตนดาร์ดเกจ ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นมีเดียม ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาเถียงกัน อยู่ที่ว่าแต่ละช่วงทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง”
ดร.นคร กล่าวอีกว่า วันนี้เราอยากจะทำอะไรจะขนส่งแบบไหนถ้าหากคิดว่าจะเพิ่มความเร็วให้รถไฟวิ่ง 250-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ต้องเปลี่ยนใช้รางแบบสแตนดาร์ด แต่เรื่องขนาดรางไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก เพราะแท้จริงเราควรจะทำนโยบายให้นิ่ง องค์กรของการรถไฟต้องขมีขมันต้องรู้ว่า อะไรที่สมควรทำและต้องทำ หากสังเกต 2-3 ปีที่ผ่านมากระแสรถไฟความเร็วสูงเข้ามาทำให้ดึงความสนใจเรื่องของทางคู่ไปและทำให้เราหลุดกรอบของการพัฒนา
ดร.นคร ยังยกตัวอย่างปัญหาของการแปรรูปการรถไฟของญี่ปุ่น โดยเทียบเคียงกับประเทศไทยว่า เหตุผลที่ต้องแปรรูปเนื่องจาก 1.เวลาจะทำอะไรต้องขอรัฐบาลตลอด 2.จะทำเท่าไหร่รัฐจัดเงินมาให้ 3.อยากให้ใครมาบริหารรัฐบาลต้องเป็นคนตั้ง 4.การเรียกร้องสหภาพมักกลายเป็นประเด็นการเมืองตลอดเรียกได้ว่ ามักมีการเมืองเข้ามาสอดแทรก ซึ่งการรถไฟที่บริหารโดยรัฐมักเป็นแบบนี้ตลอด ดังนั้นทิศทางของการจะเปลี่ยนแปลงหัวใจจึงอยู่ที่การบริหารการเปลี่ยนแปลง
"หากเรายังปล่อยให้การบริหารงานองค์กรของการรถไฟเป็นไปอย่างผิดเพี้ยน โครงสร้างองค์กรก็ไม่ชัดเจน ไม่มีวันที่การบริหารงานจะเดินต่อไปได้ ทั้งเรื่องการบริหารทรัพย์สิน งานซ่อมบำรุงอะไรก็มารวมกันอยู่แบบนี้ ถ้ายังเป็นแบบนี้ไม่ต้องถามเรื่องขาดทุนกำไร" ที่ปรึกษา สวทช. กล่าว และว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรการบริหารอย่างจริงจัง เราต้องทำให้องค์กรและภาระงานของผู้ว่าการรถไฟฯ เล็กลงไม่ใช่ให้ดูทั้งทรัพย์สินการบริหารทำงานสารพัดเรื่อง ต้องแยก นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะต้องทำ
เสนอตั้ง "กรมขนส่งทางราง"
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สวทช. วสท.และเครือข่ายมีข้อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อใช้ในการประกอบพิจารณาในการจัดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศใน 6 ประเด็นดังนี้
1.โครงการระบบขนส่งทางรางต้องเสริมสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงหลายภาคส่วนของไทยเข้าด้วยกัน โดยเชื่อมต่อเมืองหลักและฐานการผลิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซซัพพลาย
2.การปฏิรูปองค์กรขนส่งทางรางด้วยการจัดตั้ง "กรมขนส่งทางราง" ทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้างการบริหารจัดการโดยเสนอว่าประเทศไทยควรจัดตั้ง "สถาบันระบบรางขนส่งทางรางแห่งชาติ" เพื่อทำในที่ในการวางแผน เสนอแนะและพยากรณ์แนวโน้มเทคโนโลยีขนส่งทางรางในอนาคตเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องทั้งในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนากำลังคน
3.การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างกำลังคน ที่ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาสร้างบุคลากรของไทยในด้านระบบขนส่งทางราง
4.ส่งเสริมการวิจัยระบบขนส่งทางรางและส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและพึ่งพาต่างประเทศจนสร้างรายได้แก่ประเทศ
5.ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับความต้องการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากภายหลังการรวมเป็นประชาคมอาเซียน
6.กำหนดแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบราง เพื่อใช้ระบบรางราคาแพงที่สร้างขึ้นให้สมประโยชน์ เช่นการนำแนวคิดในการพัฒนาเมืองโดยมีระบบขนส่งสาธารณะเป็นตัวชี้นำ และในการพัฒนาพื้นที่แนวรถไฟฟ้าและรอบสถานี ควรนำกฎหมายการจัดรูปที่ดินมาประกอบการพิจารณาในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟซึ่งไม่ควรมุ่งเน้นแต่เรื่องการเวนคืนเท่านั้นแต่ต้องส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์ต่อประชาชน