'นายก วสท.’ ชี้การรถไฟฯ มีคนจบป.ตรีรู้เรื่องระบบรางไม่ถึง 10%
‘นายก วสท.’ ชี้ปัญหาการรถไฟฯ มีคนจบป.ตรีรู้เรื่องระบบรางไม่ถึง 10% กม.หลายฉบับล้าหลัง กระตุ้นทุกฝ่ายช่วยผลักดันพัฒนาระบบขนส่งราง หวังพาไทยสู่เมืองเทคโนโลยี ‘ดร.ณรงค์’ เผยรัฐ-เอกชนต้องจับมือกัน หากปล่อยทำฝ่ายเดียวพังแน่!
วันที่ 8 สิงหาคม 2557 สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และสมาคมวิชาการเทคนิคไทย-ฝรั่งเศส (tfta) จัดเสวนาเรื่อง "พัฒนาระบบขนส่งรางของประเทศไทย ทำอย่างไร?" ณ ห้องประชุมยงยุทธ สาระสมบัติ อาคารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งทางรางซ้ำแล้วซ้ำเล่า เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี ก็จะต้องเอาเรื่องรางมาพูดและเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง ที่สำคัญ ผู้มีส่วนได้เสียในโครงการนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลหรือเอกชนภาคธุรกิจ แต่ผู้มีส่วนได้เสียคือประชาชนคนไทยทุกคน ฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นวันนี้คือไทยมีการพัฒนาระบบราง โดยทำอย่างไรให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไข
"ทุกคนต้องช่วยกันส่งเสียงเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาระบบขึ้น โดยเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว พูดความจริงอะไรควรทำไม่ควรทำ” นายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ กล่าว และว่าถึงเวลาที่จะต้องเดินไปข้างหน้า หรือจะเลือกส่งปัญหาเหล่านี้ให้ลูกหลานบ่นเราต่อไป”
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า เราต้องทำฝันให้ประเทศกลายเป็นไทยเทคโนโลยีให้ได้ เพื่อไม่ต้องซื้อและกินน้ำใต้ศอกอีกต่อไป โดยเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2.4 ล้านล้านบาทก็ตาม
"สิ่งที่ต้องหันกลับมาดู คือ ความล้าหลังของกฎหมายรถไฟ เกี่ยวกับโครงสร้างทาง การเวนคืนที่ดิน โครงสร้างองค์กรที่ไม่สามารถขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์ของชาติ ที่สำคัญ ปัจจุบันมีบุคลากรการรถไฟฯ จบปริญญาตรีที่รู้เรื่องระบบรางไม่ถึง 10% เเละบุคลากรเชี่ยวชาญด้านนี้ก็ใกล้เกษียณเเล้ว" นายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ กล่าว เเละว่าหากเรายังจะมุ่งมั่นแต่เรื่องเงิน เทคโนโลยี โดยที่ไม่สนใจจะปรับโครงสร้าง หรือพัฒนาคนอย่างจริงใจและจริงจัง สุดท้ายบั้นปลายระบบรางก็จะเป็นเรื่องที่เราต้องพูดไปตลอดชีวิต
ด้านดร.ณรงค์ ป้อมหลักทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) หรือสพพ. กล่าวว่า ยุคนี้หากไม่สามารถพัฒนาระบบรางได้ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะคืนความสุขให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกัน เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลทำฝ่ายเดียวก็พังหรือให้เอกชนทำฝ่ายเดียวก็ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางในการพัฒนาระบบรางที่จำเป็นขณะนี้ คือ การกำกับดูแล หาแหล่งเงินทุน และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนเรื่องกฎหมายการเวนคืนที่ดินนั้นค่อนข้างพูดลำบาก ดังนั้นทางออกจึงควรหาวิธีจัดรูปแบบที่ดินมากกว่า .