'โขนพระราชทาน' นาฏยกรรมศิลป์คู่เเผ่นดินสยาม
ธ ผู้เป็นเทพธิดาจุติศรี
คู่บารมีเอกกษัตริย์แห่งสมัย
ทรงส่งเสริมราชกิจทั่วถิ่นไทย
ประโคมชัยแซ่ซ้องก้องธานินทร์
งามวิจิตร 'โขนชุด' ศิลปาชีพ
ดวงประทีปนารีรัตน์สืบงานศิลป์
ขอพระองค์ทรงสำราญเคียงภูมินทร์
เจริญมิ่งโสตถิ์สวัสดิ์นิรันดร์เทอญ
ความวิจิตรศิลป์งดงามของการแสดง ‘โขนพระราชทาน’ ผ่านเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ท่วงท่าการร่ายรำอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบโบราณยังอยู่ในความประทับใจของผู้ชมชาวสยามและต่างชาติเสมอมาตลอดเกือบ 10 ปี ที่ม่านการแสดงถูกเปิดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการแสดงโขนขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้คนไทยได้รับชมศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ หลังจากค่อย ๆ เลือนหายไปจากความนิยม โดยจัดแสดงขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 รามเกียรติ์ ชุด พรหมมาศ
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา ซึ่งได้สร้างความตื่นตาตื่นใจและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกระทั่งมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดต่อเนื่องทุกปี คือ ในปี 2550 ชุดพรหมมาศ ปี 2553 ชุดนางลอย ปี 2554 ชุดศึกมัยราพณ์ ปี 2555 ชุดจองถนน ปี 2556 ชุดโมกขศักดิ์ และปีนี้ 2557 ชุดศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ
ข้าพเจ้ามีโอกาสได้รับชมการแสดงโขนพระราชทานตั้งแต่ชุดศึกมัยราพณ์เป็นต้นมา ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในความวิริยะของทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่เสกสรรปั้นแต่งศิลปกรรมชั้นครูได้อย่างไม่น่าเบื่อเหมือนที่เคยรับชมมาแต่ก่อนเก่า
เสียงขับกล่อมเสภาสุดไพเราะ เข้าใจง่าย ปลุกอารมณ์แห่งศาสตร์ศิลป์ให้สายตาทุกคู่จับจ้องตามแสงไฟที่สาดส่องประดับบนเวที ท่วงท่าการร่ายรำ อารมณ์สีหน้า เครื่องแต่งกาย ล้วนได้ออกแบบถูกต้องตามแบบโบราณ และสวยสดงดงามตามแบบปัจจุบัน
นอกจากนี้ความประณีตในลวดลายของศิลาภรณ์และหัวโขน พร้อมกับศิลปะขีดเขียนตกแต่งตัวละครเปิดหน้านั้นยังบ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะ ผ่านการศึกษาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกต้อง ชนิดแทบไม่ผิดเพี้ยน
อีกสิ่งหนึ่งที่เรียกความปลาบปลื้มใจต้องยกให้ฉากอลังการงานสร้าง สุดทันสมัย ตามแบบฉบับไทย ๆ ที่ถูกเนรมิตอย่างสร้างสรรค์ตามจารีตประเพณี ไม่รกรุงรังหรือเบาบางเกินไป เมื่อผสมผสานกับทักษะการแสดงของตัวละครแล้วช่างแลดูกลมกลืนทีเดียว โดยเฉพาะ ‘หนุมาน’ ที่เรียกเสียงหัวเราะในความซุกซน ทะเล้น กับการโชว์ตีลังกา เหาะเหินเดินอากาศ เพื่อต่อสู้กับเหล่ายักษายักษีหลายสิบตน
เหนือสิ่งอื่นใดกว่าการได้ชมโขนพระราชทาน นั่นคือ ได้เห็นคนวัยทำงานพาผู้สูงอายุ และเด็กตัวน้อย ๆ มาชมการแสดงด้วย นอกจากเป็นการซึมซับให้เห็นคุณค่า ข้าพเจ้ามองว่าทำให้โขนไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ชมวัยสูงอายุ และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้บังเกิดขึ้นในครอบครัว ที่สำคัญ ช่วยส่งเสริมให้มีคุณค่าสืบต่อไปสมดังพระราชหฤทัยที่ทรงตั้งมั่น จึงนับเป็นบุญยิ่งยวดอย่างหาที่สุดมิได้
หากวันนั้นไม่มีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอให้จัดการแสดง ‘โขนพระราชทาน’ ขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชั่วชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ชมนาฏกรรมแห่งยุคคู่แผ่นดินสยามเช่นนี้หรือไม่ .