ความไม่เข้าใจเรื่อง“ประโยชน์ทับซ้อน”ของหัวหน้า คสช.
"..การที่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้ง พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นน้องชาย เป็น สนช. (ลำดับที่ 82 ) รับเงินเดือนและค่าตอบแทนกว่าแสนบาท แม้โดยแท้จริง พล.ท.ปรีชา เป็นคนดี มีความสามารถ แล้วมันต่างอย่างไรกับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ชินวัตร) เป็น ผบ.ตร. ตรงไหน?.."
ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
หัวหน้าคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางแนวนโยบายการบริหารประเทศ(ที่กำลังจะพินาศเพราะน้ำมือนักการเมืองบางกลุ่ม)ว่านับจากนี้จะต้องไม่มีปัญหาทุจริต และการตัดสินใจต้องไม่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests)
รูปธรรมประการหนึ่งก็คือการออก คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
กำชับว่า ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้ (ข้อ 1 จากทั้งหมด 5 ข้อ)
ถัดมาคือคำสั่งย้ายข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวพันเรื่องอื้อฉาวการคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว การจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายคน
จากนั้นก็กวาดล้างอิทธิพล บ่อน ส่วย วินรถตู้ รถมอเตอร์ไซค์ ขบวนการตัดไม้ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รุกป่า เขา จิปาถะ
ความจริงแล้วผลประโยชน์ทับซ้อน (มีรากเหง้ามาจากระบบอุปถัมภ์) มี 3 รูปแบบ
1.ผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนโยบายสาธารณะ (คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย) รูปแบบนี้เกิดขึ้นชัดเจนในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องพิกัดอัตราภาษีโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มชินคอร์ป กรณีแปลงค่าสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต กรณีอนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคมโดยเฉพาะ เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553)
2. ผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น จ้างบริษัทของตัวเองหรือหัวคะแนนเป็นผู้รับเหมา รูปแบบนี้เกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่นักการเมืองระดับท้องถิ่นยันระดับชาติ เห็นได้ชัด กรณีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ส่วนระดับท้องถิ่น อาทิ นายเฉลิม วงษ์ไพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี เป็นเจ้าของหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บ้านหมอการช่าง เป็นต้น
3.ผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การบริหารงานบุคคล เช่น ตั้งเครือญาติเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลหรือแต่งตั้งข้าราชการให้มีระดับสูงขึ้นชนิดข้ามหัวข้าราชการคนอื่น อาทิ ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ แต่งตั้ง น้องสาว เป็นที่ปรึกษานายกฯ แต่งตั้ง ญาติผู้พี่เป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตั้งหลานสาวประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)บางคนแต่งตั้ง ภรรยา สามี เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว เป็นต้น
มาถึงกรณี การแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน ซึ่งปรากฏว่า มีชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.สรรหา น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้าที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น สนช. ก็อาจพอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของความเหมาะสม อีกทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร ไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ (ยกเว้นความสัมพันธ์ทางทหารซึ่งเป็นสายบูรพาพยัคฆ์เหมือนกัน แต่จะยกเหตุผลนี้มาโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้)
แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้ง พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นน้องชาย เป็น สนช. (ลำดับที่ 82 ) รับเงินเดือนและค่าตอบแทนกว่าแสนบาท แม้โดยแท้จริง พล.ท.ปรีชา เป็นคนดี มีความสามารถ แล้วมันต่างอย่างไรกับกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ชินวัตร) เป็น ผบ.ตร. ตรงไหน?
จริงอยู่กระบวนการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ต้องย้าย พล.ต.อ.วิเชียรพจน์ โพธิ์ศรี จาก เก้าอี้ ผบ.ต.ร. ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แล้วโยก นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งตามหลักคุณธรรมของการบริหารประเทศ ไม่สามารถอธิบายได้อย่างสิ้นเชิง
โดยหลักทั้งสองกรณีมันคือเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน”เหมือนกัน? เพียงแต่ดีกรีอาจไม่เท่ากันเพราะกรณี แต่งตั้ง พล.ท.ปรีชา ไม่กระทบบุคคลที่สาม
ต้องไม่ลืมว่า“ผลประโยชน์ทับซ้อน” บางกรณีไม่ผิดหลักกฎหมาย แต่ผิดหลักธรรมาภิบาล อีกนัยยะหนึ่งเรียกว่า “สีเทาๆ”
ยกเว้นจะอธิบายในหลักของการบริหารราชการในสถานการณ์ที่ “ไม่ปกติ” มีความจำเป็นบางอย่าง
ก็คงไม่มีใคร (กล้า)ว่ากัน?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ จากchaoprayanews.com