‘นักวิชาการ’ หวั่นสรรหาสภาปฏิรูป ท้องถิ่นไร้ส่วนร่วมขับเคลื่อนกระจายอำนาจ
มติหนุน 'จังหวัดปกครองตนเอง' สร้างเนื้อแท้ประชาธิปไตย คปก.ระบุช่วยรักษาฐานทรัพยากร พื้นที่มั่นคงอาหาร นักวิชาการจุฬาฯ สั่งจับตาสรรหาสภาปฏิรูป หวั่นภาคท้องถิ่นไร้ส่วนร่วม อดีต ส.ส.ปชป.ชี้ปฏิรูปราชการดีที่สุดต้องทำให้ อปท.เข้มเเข็ง เเนะเร่งส่งข้อมูลกระจายอำนาจ คสช.
วันที่ 7 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดเสวนาวิชาการ ‘การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ’ ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงความเป็นไปได้การทะลุข้อจำกัดสู่การกระจายอำนาจว่า ต้องไม่ทำเพียงการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องตัดอำนาจการบริหารเลย เหลือไว้ที่ส่วนกลางเพียง 4 ด้าน คือ การป้องกันประเทศ การเงินการคลัง การศาลยุติธรรม และการต่างประเทศ ส่วนระบบราชการส่วนภูมิภาคก็ไม่ควรมีต่อไป นอกจากนี้ต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีใหม่ทั้งระบบ เพื่อสร้างความอิสระด้านการคลังท้องถิ่น ที่สำคัญ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยจัดตั้งสถาบันการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนผ่านรูปแบบ "สภาพลเมือง" ขึ้นมา แต่ละระดับ สร้างการตื่นรู้ให้แก่ประชาชน ภายใต้ภารกิจหลัก คือ การกำหนดทิศทางจังหวัด ติดตามตรวจสอบ และสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดการตรวจสอบขึ้นได้จริง
“10 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถทะลุทะลวงกรอบไปสู่กฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ ดังนั้นตั้งใจจะขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ได้ในรูปแบบ ‘จังหวัดปกครองตนเอง’ เพราะเชื่อว่า การที่ประชาชนดูแลตัวเองได้เป็นเนื้อแท้ของระบอบประชาธิปไตย” กรรมการ คปก. กล่าว และว่า อีกทั้งจะช่วยป้องกันท้องถิ่นและต่อรองกับทุนมหาศาลในการรักษาฐานทรัพยากร พื้นที่เกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร เหนือสิ่งอื่นใดยังถือเป็นการรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ให้คงไว้
ด้านรศ.ตระกูล มีชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จังหวัดในไทยล้วนประสบปัญหาเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมาหลายสิบปี โดยเฉพาะด้านหนี้สิน ซึ่งรัฐส่วนกลางและภูมิภาคแก้ปัญหาไม่เคยสำเร็จ ทำให้ประชาชนต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อพึ่งอำนาจรัฐ ซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากระดับฐานล่างยังมีรากฐานไม่แข็งแรง ดังนั้น จึงควรสร้างจากระดับท้องถิ่นให้ดีก่อน
รศ.ตระกูล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไม่ควรประมาทอำนาจของประชาชน เพราะมีความตื่นตัวสูงมากขึ้น ยิ่งในสภาวะที่มีสื่อหลากหลาย พร้อมกันนี้การจะปฏิรูปท้องถิ่นจะต้องศึกษาระบบราชการควบคู่ด้วย เพราะเป็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และพึงระวังกระแสการปรับตัวครั้งใหญ่ของระบบราชการไทย ไม่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
“กระบวนการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีผู้แทนระดับท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการกระจายอำนาจมากเพียงใด ที่สำคัญ อย่าลืมเป้าหมายของการผลักดันที่ชัดเจน ซึ่งท้ายที่สุดไม่มีใครจะมอบความสุขแก่ประชาชนได้เท่ากับท้องถิ่น” นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าว
นายชัยมงคล ไชยรบ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการกระจายอำนาจที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ขับเคลื่อนขาดความจริงใจ มีเจตนาล่าช้า และผู้มีอำนาจมักมองประชาชนเป็นผู้ถูกปกครองมากกว่าหุ้นส่วนประเทศ ทำให้มองข้ามความสำคัญของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย
“ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเฉพาะวันเลือกตั้ง หลังจากนั้นจะกลับไปสู่กลุ่มบุคคล และถูกมองว่าหากให้อำนาจท้องถิ่นมากเกินไปจะทำให้บทบาทส่วนกลางลดถอยลง” นายกสมาคม อบจ.ฯ กล่าว และว่า ต่อให้กฎหมายดีเพียงใด ยากที่จะเดินต่อได้ หากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแกล้งลืม จึงเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นตัวเองด้วยการกระจายอำนาจ
นายชัยมงคล แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ที่งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยให้สรรหาเป็นการชั่วคราว เพราะเชื่อว่าการค้ำยันประเทศให้อยู่ยงคงเป็นไทยไม่ใช่อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของข้าราชการหรือขุมทหารฝ่ายเดียว แต่ประชาชนต่างมีสิทธิค้ำยันประเทศได้ด้วย
ขณะที่นายสวิง ตันอุด เครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวว่า การรวมศูนย์อำนาจบริหารประเทศจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ทำให้เกิดวิกฤต ดังเช่นในหลายบางประเทศที่มีการสู้รบจนลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ฉะนั้นจำเป็นต้องเคลื่อนไหวต่อไปด้วยการเตรียมเสนอกฎหมายภาคประชาชนทุกฉบับต่อ สนช. และจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าไปด้วย
นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบาย คสช.ที่ต้องการปฏิรูประบบราชการให้เร็วที่สุด มองว่าไม่มีวิธีใดจะทำได้นอกจากการให้มี อปท.ที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ คปก.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่องเเละส่งข้อมูลทั้งหมดผ่านไปถึง คสช.ให้ได้ .