‘เอกชน’ แนะให้ อปท.เก็บภาษีที่ดิน ช่วยกระจายอำนาจคลังสู่ท้องถิ่น
สศค.ชูวิสัยทัศน์ 2020 สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ดันกม.การเงินการคลังภาครัฐ 'เอกชน' เเนะเร่งออกภาษีทีดิน ให้สิทธิ อปท.จัดเก็บ ช่วยกระจายอำนาจคลังสู่ท้องถิ่น ‘ดร.อัมมาร’ จี้อุดช่องโหว่โครงการรัฐขาดวินัยการคลัง ‘เจ้าสัวบัณฑูร’ หวังรัฐบาลส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เอื้อธุรกิจเติบโต
วันที่ 6 สิงหาคม 2557 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง ‘เศรษฐกิจการคลังไทย:ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน’ ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงความท้าทายของ สศค.ที่จะทำให้ระบบการคลังเกิดความยั่งยืน โดยจะเดินตามกรอบวิสัยทัศน์ ปี 2020 ผลักดันให้ไทยมีรายได้สูงขึ้น และยกขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศจนกลายเป็นผู้นำภูมิภาค อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางรายได้ จัดสรรทรัพย์สินของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมวินัยทางการเงินการคลัง
“สศค.ยืนยันจะผลักดันนโยบายเดิมที่ค้างอยู่ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ร.บ.การเงินการคลังภาครัฐ หรือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แน่นอน และจะไม่ให้ใครมาล้วงเงินในกองทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ โดยจะพยายามเสนอแนะบนหลักการที่เป็นไปได้” ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าว
ด้านดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านเครื่องมือทางการคลังมักถูกหยิบยกพูดกันมาตลอด โดยเฉพาะช่วงการปฏิรูปที่ไม่ต้องเกรงใจฝ่ายการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการออกกฎหมายด้านเศรษฐกิจมากที่สุดหลังเหตุการณ์ปี 2535 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
ประธาน ตลท. จึงเสนอให้ใช้โอกาสนี้ออกกฎหมายผ่านเครื่องมือทางรายได้ โดยเร่งรัดให้จัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 17% ของจีดีพี เพราะปัจจุบันรายได้จากภาษีนิติบุคคล 21% มาจาก 5 บริษัทขนาดใหญ่ และภาษีบุคคลธรรมดามีจำนวนผู้เสียภาษีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ผู้ที่ทำงานอิสระมีรายได้มากกลับไม่ต้องเสียภาษี
นอกจากนี้ต้องออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจทางการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะตั้งแต่ปี 2540 รัฐถ่ายโอนงบประมาณรายจ่ายเพียง 28% จากที่ควรจะได้รับ 35% อย่างไรก็ตาม พบว่า การขับเคลื่อนนโยบายเช่นนี้ทำให้ อปท.ได้รับเพียงงบประมาณ แต่ไม่ได้รับภารกิจด้วย ฉะนั้นต้องให้อิสระกับท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีด้วยตัวเอง
ดร.สถิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับเครื่องมือรายจ่ายนั้นต้องนำไปสู่การใช้จ่ายที่สามารถวัดการพัฒนาของประเทศและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ เป้าประสงค์การใช้จ่าย ทันเวลา และโปร่งใส ซึ่งต้องออกเป็นพ.ร.บ.การเงินการคลังภาครัฐ ก็จะสามารถควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในกรอบได้ อีกทั้งต้องนำเงินนอกงบประมาณกลับเข้ามาอยู่ในงบประมาณ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบที่สมบูรณ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
ส่วนสุดท้าย เครื่องมือด้านหนี้สิน ควรขับเคลื่อนให้ประเด็นหนี้สาธารณะเป็นกรอบที่ถาวร มิใช่อยู่ภายใต้กรอบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเห็นควรจัดตั้งองค์กรจัดเก็บภาษี ซึ่งอดีตเคยจัดทำพิมพ์เขียวทบวงภาษีไว้แล้ว โดยอาศัยต้นแบบจากอังกฤษ
ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศประหลาดที่สุดในโลก เพราะการจะแก้ไข 1 มาตราในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยากกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายภาษีจะมีความถาวรสูงมาก เพราะนักการเมืองทั่วโลกเห็นว่าไม่ชวนให้ได้คะแนนเสียง จึงถือเป็นสันดานประจำตัว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ต้องคิดหนัก เพราะระบบดังกล่าวไม่ใช่เครื่องมือสร้างความสุขให้กับประชาชน
ทั้งนี้ การเก็บภาษีที่ดินต้องมีการประเมิน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง ส่วนการตั้งอัตราและเก็บภาษีให้เป็นหน้าที่ของ อปท.เป็นผู้กำหนดตามภารกิจ เพื่อส่งเสริมการปกครองตัวเอง และลดการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากส่วนกลาง
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระบวนการคลังไทยถูกนำไปใช้จ่ายโดยอ้างความยากจนของกลุ่มคนต่าง ๆ และนับวันส่อเค้ามีเหตุผลน้อยลง ยกเว้น โครงการรับจำนำข้าว เพราะรัฐบาลอ้างอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องการช่วยเหลือคนจน แต่ความจริงแล้วกลับมีชาวนาที่ไม่ยากจนได้รับประโยชน์มากสุด ฉะนั้น ต้องหาวิธีอุดช่องโหว่โครงการขาดวินัยทางการคลังให้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบได้
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงข้อเรียกร้องภาคเอกชนว่า ที่ผ่านมาถูกบีบจากสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน หากใครหมุนไม่ทันโลกก็จะค่อย ๆ แผ่วลงไป ทั้งนี้ ขอเพียงภาครัฐอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบภาษี ระบบการศึกษา และมีกฎหมายรองรับชัดเจน เพียงเท่านี้ก็สามารถกระตุ้นตลาดให้เติบโตได้แล้ว
“ภาคราชการมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ที่ผ่านมากลับถูกอำนาจทางการเมืองกด ทำให้ขาดวินัยทางการเงินการคลัง ผู้บริหาร ธ.กสิกรไทย กล่าว และว่าก่อนหน้านี้ภาคการเมืองเคยพยายามนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ โดยอ้างความเจริญของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเกลียดที่สุด แต่โชคดีที่ภาคการเงินมีวินัยพอสมควร แต่ภาคราชการอาจล่อแหลม
ขณะที่ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า ควรสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการปฏิรูปภาษี ด้วยการออกระเบียบให้คนไทยทุกคนเข้าสู่ระบบ เพราะจะเป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เช่น การตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้นักการเมือง หรือผู้ประมูลงานกับหน่วยงานรัฐต้องเสียภาษีก่อน ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูป .