ครูชนบทชี้“แท็บเลต” เป็นดาบสองคม สร้างปัญญา-ทำเด็กติดวัตถุ
สภาการศึกษาทางเลือกชี้ แท็บเลต เป็นดาบสองคมหากรู้ไม่เท่าทัน นายกสมาคมโรงเรียนเล็กแจงบางพื้นที่ไม่มีครูไอที – แนะแจกตามสัดส่วนเด็กทั้ง ร.ร. แทนแยกชั้นปี ครูอาสาแขวะยุบโรงเรียนเล็กเพราะไม่มีงบ แต่มีเงินซื้อแท็บเลต
จากนโยบายประชานิยมหนึ่งของพรรคเพื่อไทย "โครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child)" ที่ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาให้รายละเอียดว่า จะโยกงบแจกหนังสือเรียนบางส่วนมาใช้ในโครงการ แต่จะมีการเตรียมความพร้อมทางด้านเนื้อหาหลักสูตร เป็นระยะเวลา 6 เดือน และในระหว่างนี้ ครู และนักเรียน จะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษที่จะทำให้ใช้เครื่องมือได้เต็มประสิทธิภาพ
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สอบถามความคิดเห็นไปยัง ครู อาจารย์ และบุคลากร ที่ทำงานกับโรงเรียนชนบท ต่อนโยบายดังกล่าว โดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า การให้แท็บเลตเป็นเรื่องดี เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่เป็นห่วงเรื่องการเตรียมความพร้อมตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการหลายข้อ 1. ไม่ว่าจะเตรียมตัวอย่างไร แต่เด็ก ป.1 ยังไม่มีความพร้อมอย่างแน่นอน ควรพิจารณาให้ระดับมัธยมเป็นต้นไปเพราะมีวุฒิภาวะสูงกว่า 2. ผู้ปกครองอาจตามบุตรหลานไม่ทันหากทำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดช่องว่าง 3. เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม อาจทำให้เด็กติดวัตถุเกินไปหากรู้ไม่เท่าทัน
เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวต่อไปว่า แต่ถ้ามีความจำเป็นจะต้องให้ ก็ควรดูเนื้อหาในแท็บเลตด้วย ควรจะเน้นสื่อสร้างสรรค์ อาทิ หนังสือดีบางเล่มที่มีราคาแพง เกมฝึกภาษา เกมฝึกสมอง ด้านนายสัมฤทธิ์ นรทีทาน นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก สนง.เขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 กล่าวว่า การแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนโดยใช้หลักเกณฑ์การแบ่งชั้นจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ถ้าให้เฉพาะ ชั้น ป. 1 โรงเรียนที่ไม่มีป. 1 ก็จะขาดโอกาส ควรคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน แล้วให้โรงเรียนบริหารจัดการตามความเหมาะสม
นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก กล่าวถึงเรื่องนโยบายการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะภาษาอังกฤษว่า จะเป็นช่องว่างทำให้เด็กในชนบทขาดโอกาสได้รับแท็บเลต ปัญหาหลักของโรงเรียนในชนบท คือ ความไม่พร้อมในบุคลากรครู เพราะหลายโรงเรียนไม่มีครูด้านไอที (เทคโนโลยีสารสนเทศ) และไม่มีครูภาษาอังกฤษ ส่วนเนื้อหาในแท็บเลต มองว่าควรจะมีข้อมูลด้านวิชาชีพ ศีลธรรมและมนุษยธรรมถ้าจะมีเกม ควรเป็นเกมที่ปลูกฝังความรู้ด้านสังคมด้วย
"แต่ปัญหาหนึ่งคือ แท็บเลตอาจทำให้เด็กแปลกแยกออกจากสังคม สนใจเทคโนโลยี แต่ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ทำให้วิถีชีวิตเด็กชนบทเปลี่ยนไป” ครูภูธร กล่าว
ด้านนายสมัคร เยาวกรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสี่แยกสมเด็จ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ และรองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแจกแท็บเลต เป็นการเพิ่มเครื่องมือให้กับเด็กต่างจังหวัดในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่สิ่งที่กังวล มี 2 เรื่อง คือ 1. ครู ที่ยังไม่มีความพร้อม 2. นักเรียนบางส่วนอาจนำไปใช้ไม่ถูกแนวทาง เช่น เล่นเกม หรือดาวน์โหลดสื่อไม่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก สำหรับการพัฒนาคุณภาพครู และนักเรียนเพื่อรองรับการใช้งาน คิดว่าแท็บเลตคงไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์อื่นๆ คงใช้เวลาไม่นานในการเรียนรู้ และเด็กชนบทควรได้รับการสนับสนุน มากกว่าเด็กในเมืองที่มีความพร้อมอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องที่ทางกระทรวงฯ มอบหมายให้อาชีวะเข้ามาจัดการ ประกอบเครื่องเอง นายสมัครเห็นว่า เป็นเรื่องดีกว่าการให้บริษัทเอกชนเข้ามาแสวงหากำไร เพราะอาชีวะเป็นสถาบันที่มีความสามารถอยู่แล้ว
นายวันชัย พุทธทอง รองเลขาธิการเครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคใต้ และครูอาสา กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล แต่ควรจัดลำดับความสำคัญด้วยว่า อะไรควรทำก่อน –หลัง ซึ่งปัญหาของระบบการศึกษาไทยคือ ความไม่เท่าเทียม และการขาดโอกาสทางการศึกษา ควรเร่งจัดการศึกษาให้เท่าเทียมทุกภาคส่วนก่อน
"ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณจ้างครู และงบอุดหนุนนักเรียน แต่กลับแท็บเลตแจก ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท” นายวันชัย กล่าว
ภาพโดย ปรัชญา ชุติภัทรสกุล