ไม่แทรกแซงกิจการภายใน นักวิชาการ ชี้อุปสรรคขวางร่วมมือทางการเมืองชาติอาเซียน
ดร.สุรชัย ศิริไกร ยันอุดมคติอาเซียนเป้าหมายดี ฝันผนึก 10 ประเทศให้มีประชาธิปไตย ขัดแย้งกับความจริง เชื่อต้องใช้เวลาอีกหลายปี ด้านรศ.วิทยากร เชียงกูล ติงอย่าเห่อแต่อาเซียนจนลืมปฏิรูปตัวเอง หวั่นไปไม่รอด เหตุไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างอื้อ
วันที่ 6 สิงหาคม ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน TU-ASEAN Week 2014 ระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคม 2557 เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 47 ปี ของการก่อตั้งอาเซียน ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ มธ.กล่าวถึงไทยกับการเป็นศูนย์กลางอาเซียนของประชาคมอาเซียน ด้านการเมืองและความมั่นคง ว่า เป็นเรื่องยากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีความหลากหลายมีระบบการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น มี 2 ประเทศ คือ ลาว และเวียดนาม ยังปกครองระบบคอมมิวนิสต์ มีอำนาจเด็ดขาด ขณะที่ “บรูไน” มีระบอบการปกครองสมบูรณาสิทธิราชย์ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ส่วน “พม่า” เพิ่งปฏิรูปและเปลี่ยนจากระบบการปกครองทหาร และเริ่มมีประชาธิปไตย “สิงคโปร์” มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวปกครองประเทศ ข้อดี คือ การเมืองนิ่ง แต่พรรคฝ่ายค้านก็ต้องหุบปากเงียบ ซึ่งไม่ต่างจากมาเลเซียที่ปกครองประเทศด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวเช่นกัน อินโดนีเซีย แม้จะมีความมั่นคงทางการเมือง แต่ก็พัฒนาช้า รวมถึงฟิลิปินส์ด้วย ดังนั้น หากพูดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง เรียกว่า อาเซียนมีปัญหาเกือบทุกประเทศ แม้กระทั่งไทย ก็มีปฏิวัติ รัฐประหาร และเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย
ศ.ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า หากให้มองการพัฒนาประชาธิปไตยแบบตะวันตกในกลุ่มประเทศอาเซียน จึงต้องใช้เวลา และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
สำหรับพิมพ์เขียว ( Blueprint) ของอาเซียนที่เขียนไว้ เช่น อยากให้ประชาคมอาเซียนมีกฎหมายและค่านิยมร่วมกัน,เป็นประชาคมที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีเอกภาพ สงบสุข แข็งแกร่ง พร้อมรับผิดชอบร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคง รวมถึงให้ประชาคมอาเซียนมีพลวัตร มองโลกภายนอกที่มีการรวมตัว พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า แม้เป้าหมายจะดีมาก ฟังดูดี ประชาคมอาเซียนต้องการผนึก 10 ประเทศมีประชาธิปไตย มีมาตรฐานร่วมกัน แต่ข้อเท็จจริง เชื่อว่า ต้องใช้เวลาอีกนาน แม้ผู้นำมาลงนามในเจตจำนงแล้วก็ตาม
“ปี 2011 มีการศึกษาพื้นฐานการเมืองของประเทศอาเซียน พบว่า ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด คือสิงคโปร์ ทั้งด้านความรับผิดชอบของรัฐบาล การมีสิทธิมีเสียงของประชาชน ความมั่นคงทางการเมือง ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล นิติธรรม นิติรัฐ และการควบคุมคอรัปชั่น ส่วนประเทศไทย จากคะแนนเต็ม 100 พบว่า ได้คะแนนต่ำกว่า 50 เกือบทุกด้านที่กล่าวมา โดยเฉพาะคอร์รัปชั่น ได้ 46.9% เทียบสิงคโปร์ไม่ติด”ศ.ดร.สุรชัย กล่าว และว่า อุปสรรคสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมหลักการประชาธิปไตยนั้น ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ แบบ “ลาว เวียดนาม” ดังนั้นอุมดมคติของอาเซียนที่เขียนไว้จึงขัดแย้งกัน
ส่วนกฎบัตรอาเซียน หรือธรรมนูญอาเซียน (ASEAN Charter) อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ก็เป็นอุปสรรคสำคัญเช่นกันในการร่วมมือทางการเมือง โดยเฉพาะหลักกฎเหล็ก ประเทศสมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในนั้น เราจะเห็นว่า ทำไมเมื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร ประเทศในอาเซียน เงียบหมดเลย หรือเวียดนาม พม่า มีปัญหา ไทยก็ต้องเงียบเช่นกัน ไม่ออกมาวิจารณ์ซึ่งกันและกัน ก็ด้วยเป็นกฎเหล็กที่อาเซียนเขียนเอาไว้
“ผมเห็นว่า ด้วยข้อตกลง ไม่แทรกแซงการเมืองของกันและกัน ทำให้ประเทศอาเซียนที่มีความแตกต่างกันอย่างมา แต่มีอุดมการณ์ร่วมกัน อยู่รอดและอยู่ร่วมกันได้ เพราะมีการเจรจามีการตกลง ได้ประโยชน์ร่วมกันสองฝ่าย ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีสงครามเกิดขึ้น”ศ.ดร.สุรชัย กล่าว และว่า ฉะนั้น การร่วมมือทางการเมือง หากพิจารณาแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะทำได้ ไปแบบช้าๆ ไม่เร็ว เพราะมีอุปสรรคมากมาย
ขณะที่รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยในบริบทประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยหากไม่ปฏิรูปประเทศไทยให้ดีก่อน แล้วไปเห่ออาเซียน จะไม่ได้เรื่อง เนื่องจากปัญหาของไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนา มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ฐานะทางสังคม และระบบนิเวศ ขณะที่ประชาชนถูกครอบงำให้หวังพึ่งชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่รู้จักศักยภาพตัวเอง ฯลฯ
ด้านนายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียนนั้น
1.ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือ เมดิคัล ฮับ ( Medical Hub) ได้
2.ศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics Hub) ด้านทางเดินอากาศ แต่จะทำอย่างไร จะพัฒนาสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และจะขยายอย่างไร
และ 3.ศูนย์กลางโลจิสติกส์ด้านท่าเรือ แต่ขณะนี้ไทยมีปัญหาเรื่องพื้นที่ ที่จะก่อสร้างท่าเรือ
“ปัจจุบันไม่มีที่ใดยอมให้มีการสร้างท่าเรืออีกแล้วในประเทศไทย ขณะที่โครงการท่าเรือทวายที่พม่าก็มีปัญหา ทำต่อไม่ได้”
นายกรกฎ กล่าวถึงระบบคมนาคมขนส่งทางรางในอาเซียนด้วยว่า หากเราจะบอกว่า ต้องการเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟของอาเซียน วันนี้จีนตัดสินใจแล้วสร้างเส้นทางรถไฟมาที่ลาว ผ่านเวียงจันทน์ เข้าที่หนองคาย แต่บ้านเรามีไม่กี่จุดที่เส้นทางรถไฟสร้างไปชนชายแดน
“ ทางเหนือไม่ต้องคุย สุดสายที่สถานีนครพิงค์ เชียงใหม่ ทางรถไฟเด่นชัย ไปถึงเชียงของ ตามที่มีการวางแผนไว้ ก็ต้องมีการเจาะอุโมงค์ ค่าใช้จ่าย 5 พันล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งหากไม่เจาะอุโมงค์ทำยาก เพราะต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก”นายกรกฎ กล่าว และว่า ส่วนจุดที่เชื่อมต่ออาเซียนได้ ทางใต้ที่มาเลเซีย รถไฟไทยสามารถวิ่งได้ถึงสิงคโปร์ อีกทั้งรางรถไฟยังเท่ากัน คือ 1 เมตร ขณะที่จีน 1.43 เมตร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุดรธานี หนองคาย ติดกับประเทศลาว สามารถข้ามแม่น้ำโขงได้