"คณิต"ซัดประกาศ คสช. แก้ ป.วิอาญา ฉวยโอกาสชิงอำนาจ"สุกเอาเผากิน"
"คณิต"ซัดประกาศ คสช. แก้ ป.วิอาญา เป็นการฉวยโอกาส-สุกเอาเผากิน ชี้ เพิ่มอำนาจ ผู้บัญชาการฯภาค ข้ามผู้ว่า-อัยการ ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล ชิงอำนาจ ไม่ได้แก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและอดีตอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคำสั่งฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา โดยกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการยื่นฟ้องหรือไม่ยื่นฟ้องคดีทางอาญา ว่า การแก้ ป.วิอาญา ครั้งนี้ ไม่รู้ว่าแก้เพื่ออะไร คนแก้ต้องการอำนาจหรือเปล่าและเมื่อได้อำนาจไปแล้ว จะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ไหม ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้แล้วแก้กฎหมายทำไม
"การแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุล แต่คือการแสวงหาอำนาจ ขอถามว่าเมื่อแสวงหาอำนาจแล้ว แก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่ออัยการยื่นคำฟ้อง ศาลก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ระบบตรวจสอบของประเทศไทยดีอยู่แล้ว"
ศ.ดร.คณิต กล่าวด้วยว่า ตำรวจที่ดีมีอยู่เยอะ แต่ตามหลักวิชาการแล้ว ต้องยอมรับว่าอัยการศึกษากฎหมายและทำงานด้านกฎหมายโดยตรง ย่อมมีความรู้ทางกฎหมายดีกว่าตำรวจ ตามหลักแล้วทั้งผู้พิพากษาและอัยการมีความรู้ทางกฎหมายดีกว่าตำรวจ การแก้กฎหมายครั้งนี้ อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าตำรวจมีความรู้ดีกว่า หรือมาควบคุมอัยการ มาควบคุมมหาดไทย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวนไม่น้อยก็เรียนจบกฎหมาย
“การแก้กฎหมายครั้งนี้ไม่ได้ใช้ความรู้ตามหลักวิชา ผมคิดว่าเป็นการฉวยโอกาสในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และนี่เป็นกฎหมายที่สำคัญของประเทศ มาแก้แบบสุกเอาเผากินไม่ได้”
ศ.ดร.คณิตกล่าวว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีคณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายแก้ไขวิธีพิจารณาความอาญา อยู่แล้ว ตนเคยทำงานนี้ ยืนยันว่าการแก้กฎหมายจะแก้ไขแบบสุกเอาเผากินไม่ได้ เพราะกฎหมายมีไว้แก้ปัญหา ถ้ากฎหมายไม่ได้แก้ปัญหานั่นหมายความว่าเป็นเพราะกฎหมายไม่ดี และคนบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เรื่อง
"การแก้ครั้งนี้เป็นแบบสุกเอาเผากิน เหมือนกับว่าได้ทีแล้ว เป็นการแก้เพื่อให้ได้อำนาจ” ศ.ดร.คณิต ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่ออัยการและมหาดไทย ส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะสามารถทักท้วงหรือระงับคำสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ ศ.ดร.คณิต ตอบว่า "ตอนนี้ การแก้ไขเสร็จสิ้น มีประกาศคำสั่ง ของ คสช.ซึ่งเป็นรัฐถาธิปัตย์ จึงถือเป็นกฎหมายไปแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาจะไปทำอะไรได้"
“ถ้าก่อนแก้ไขส่งมาให้ดู ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เป็นกฎหมายแล้ว ตอนนี้ ที่ทำได้ก็ต้องรอ สนช. คือต้องเสนอเข้าไปให้ สนช. แก้คืน จะแก้ไขสำเร็จไหม สิ่งไหนไหมถูกต้อง จะดันทุรังไปยังไง ในหลวงท่านยังทรงรับสั่งว่าต้องแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ท่านก็รับสั่งไม่มีใครทำให้คนเป็นคนดีได้ทุกคน แต่ต้องทำให้คนดีได้ปกครอง คือหมายความว่าเราต้องกำกับคนไม่ดี ไม่ให้ก่อการกำเริบ"
ศ.ดร.คณิตกล่าวด้วยว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้ เป็นเรื่องตลกและแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักฉวยโอกาส ไม่ทราบว่าที่ปรึกษาของหัวหน้า คสช. อย่างนายวิษณุ เครืองาม และนายพรเพชร วิชิตรชลชัยได้ทักท้วงหรือเปล่า การจะแก้กฎหมายนั้นแก้ไขได้ แต่ต้องคำนึงด้วยว่าถูกหลักการหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายปกป้อง ศรีสนิท ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราต่อกรณีเดียวกัน และตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เห็นแย้งกับอัยการน้อยมาก เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ ศ.ดร.คณิต กล่าวว่าไม่เป็นความจริงที่ผู้ว่าฯไม่เห็นแย้งอัยการ แต่หากไม่เห็นแย้ง นั่นหมายความว่า เมื่อผู้ว่าฯ ตรวจสอบแล้วผู้ว่าเห็นด้วยกับการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ของอัยการ ซึ่งกระบวนการตามกฎหมายเดิมถือว่าให้อำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลกันเองอยู่แล้ว
“ที่ผ่านมา ที่มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ถามว่าให้ชี้ขาดเพื่ออะไร ก็เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินคดดีซ้ำซ้อน อาทิ กรณี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ถูก พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวศศ์ ร้องทุกข์ว่าหมิ่นประมาท เหตุเกิดที่กรุงเทพฯ แต่คุณเสรี ไปฟ้องที่อ.ปะนาเระ ทั้งที่เกิดที่ กทม. หรือกรณี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปฟ้องคุณสุนัย มโนมัยอุดมข้อหาหมิ่นประมาท ฟ้องที่จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งที่เหตุเกิดนอกท้องที่”
ศ.ดร.คณิตกล่าวว่าเจตนารมณ์กฎหมายที่มีอยู่เดิม ไม่ต้องการให้เกิดการกลั่นแกล้งกันแบบนี้ แล้วเมื่อแก้ไข ปัญหาการ กลั่นแกล้งกันนี่จะมาแก้ได้งั้นหรือ เพราะตามหลักการแล้วคดีเกิดที่ไหน ต้องสอบสวนที่นั่น ไม่ใช่ไปแจ้งความที่อื่นที่แล้วศาลก็ออกหมายเรียก แบบนั้นไม่ถูกต้อง
"กรณีมีคำสั่งแก้กฎหมายนี้ สั่งโดยรัฐถาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจปกครองประเทศ จะสั่งอย่างไรก็ได้ แต่การจะทำอะไร ต้องศึกษา ไม่ใช่การทำความรู้สึก เพราะการแก้กฎหมาย ต้องแก้ปัญหาให้สังคม แต่การแก้ครั้งนี้ ไม่เห็นว่าแก้ปัญหาสังคม
"มันเป็นการแก้ที่ความรู้สึก คือรู้สึกว่าผู้ว่าฯ มีอำนาจมากไปก็ขออำนาจบ้าง อัยการมีอำนาจเกินไป ก็ขอมีอำนาจบ้าง ทั้งๆ ที่กฎหมายเดิมนี่แหละคือกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอัยการด้วย” ศ.ดร.คณิตระบุ
ภาพประกอบจาก : www.bangkokvoice.com