ปณิธาน : บทบาทไทยในปัญหาปาเลสไตน์ กับเป้าหมายสมาชิกไม่ถาวร "ยูเอ็นเอสซี"
เหตุการณ์โจมตีฉนวนกาซา จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยืดเยื้อมานานหลายสัปดาห์ และก่อความสูญเสียมากมายทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝั่งปาเลสไตน์นั้น
แม้พื้นที่ความขัดแย้งจะค่อนข้างห่างไกลกับเมืองไทยและคนไทย แต่นักวิชาการด้านความมั่นคงอย่าง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับเห็นว่าไทยต้องแสดงจุดยืนและบทบาทในเรื่องนี้อย่างชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
เพราะท่าทีที่ผ่านมามีเพียงการอพยพคนไทยหนีภัยกลับประเทศเท่านั้น
"ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังรณรงค์เข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แบบไม่ถาวร (ประเภทหมุนเวียน) ซึ่งสมาชิกชุดปัจจุบันจะหมดวาระไล่กันไปช่วงปี 2560-2561 และไทยได้เสนอตัวสมัครเป็นสมาชิก" ดร.ปณิธาน เปิดประเด็น และว่า
"จุดยืนที่ไทยรณรงค์หาการสนับสนุน คือ ขอเป็นสะพานเชื่อมประเทศต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ฉะนั้นปัญหาความรุนแรงในฉนวนกาซา จึงเป็นบทบาทที่ท้าทายประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของความเหมาะสมในการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ"
ดร.ปณิธาน ขยายความว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แบบไม่ถาวร มี 10 ประเทศ ชาติเอเชียที่เสนอตัวมี 2 ชาติ คือ ไทย กับ คาซัคสถาน ซึ่งแต่ละประเทศก็ได้แสดงบทบาทเพื่อหาเสียงสนับสนุน ซึ่งจะมีการลงคะแนนกันในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติราวปี 2559
"ไทยประกาศตัวลงสมัครตั้งแต่ปี 2550 ต่อมาปี 2552 ยูเอ็นจึงให้การรับรอง และเปิดให้รณรงค์หาเสียงสนับสนุนได้ ประเด็นที่เราใช้ในการหาเสียง คือ ต้องการผลักดันความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยไทยเสนอตัวเป็นสะพานเชื่อมประเทศต่างๆ ให้ร่วมมือกัน"
"จากสถานภาพของไทยดังกล่าว ทำให้ไทยต้องมีจุดยืนเป็นพิเศษในปัญหาปาเลสไตน์และสถานการณ์การโจมตีฉนวนกาซา สิ่งที่ไทยต้องผลักดันคือทำให้เกิดการเจรจาสงบศึก โดยเบื้องต้นต้องมีข้อตกลงหยุดยิงจริงๆ ให้ได้โดยเร็ว" นักวิชาการด้านความมั่นคง ระบุ
เขาชี้ว่า หัวใจสำคัญของปัญหาในขณะนี้ คือ ยังไม่สามารถเจรจาให้เกิดการหยุดยิงอย่างแท้จริงได้ (มีเพียงหยุดยิงช่วงระยะเวลาสั้นๆ) ซึ่งไทยต้องมีท่าทีและบทบาทในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าไทยมีสถานภาพค่อนข้างซับซ้อน คือ เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐและอิสราเอล แต่ไทยก็ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์ด้วย ถึงกระนั้น การที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองฝ่ายก็ถือเป็นจุดแข็งของไทย แม้จะไม่ง่ายแต่ก็ต้องพยายามทำเพื่อหาทางออกให้กับทั้งอิสราเอลและฮามาส
"ไทยในฐานะคนกลางต้องมีจุดยืนที่เป็นกลาง เพราะวิธีการที่อิสราเอลใช้มาตลอด คือ รุกชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุดก่อน พอหยุดยิงแล้วค่อยเจรจาต่อรองทีหลัง ทำให้ได้เปรียบในการเจรจาค่อนข้างมาก ตอนนี้อิสราเอลก็กำลังทำอย่างนั้นอยู่ ฉะนั้นต้องเจรจาให้หยุดยิงโดยเร็วที่สุด ประกอบกับการสู้รบในช่วงที่ผ่านมามีการยิงขีปนาวุธเข้าไปในชุมชน โดนประชาชนผู้บริสุทธิ์ ชาวบ้าน แม้กระทั่งเด็ก ทำให้สูญเสียมาก สะท้อนว่ากลุ่มฮามาสยึดครองพื้นที่มานาน และนักรบลงไปอยู่ในชุมชน ฉะนั้นอิสราเอลจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไป ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก"
ดร.ปณิธาน สรุปว่า จุดยืนของไทย ณ ขณะนี้ คือ 1.ต้องเรียกร้องให้เกิดการหยุดยิงอย่างแท้จริงโดยเร็ว 2.ต้องมีทางออกให้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งรูปแบบการเจรจา ข้อตกลง กลไกต่างๆ แม้กระทั่งสถานที่ที่จะพูดคุยกัน โดยไทยมีความใกล้ชิดกับมหาอำนาจ น่าจะแสดงบทบาทเข้าไปเร่งให้เกิดการเจรจาเพื่อหยุดยิงให้ได้เร็วที่สุด
"ผมคิดว่าถ้าไทยไม่มีจุดยืนในเรื่องนี้ น้ำหนักของไทยจะลดลงในการแข่งขันชิงเก้าอี้สมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ที่ผ่านมาการมีรัฐประหารในบ้านเราก็ทำให้น้ำหนักของเราในเวทีโลกลดลงอยู่แล้ว ประกอบกับคนที่ไปรณรงค์ขณะนี้ คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีสถานะเป็นข้าราชการประจำ ไม่ใช่นักการเมือง ประกอบกับ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ไม่ได้เน้นเท่าที่ควร เพราะกำลังสาละวนกับการแก้ไขปัญหาภายในประเทศอยู่"
ดร.ปณิธาน บอกด้วยว่า การลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ จะมีขึ้นในราวปี 2559 ซึ่งตอนนั้นน่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งแล้ว แต่ไทยควรใช้โอกาสจากสถานการณ์โจมตีฉนวนกาซา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในบทบาทที่ไทยเคยประกาศ คือ เป็นสะพานเชื่อมเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง
"ผมคิดว่าถ้าไทยทำได้ หรือแสดงบทบาทได้ดี จะส่งผลดีต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทำให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นพี่น้องมุสลิมและห่วงใยชาวปาเลสไตน์ได้เห็นว่ารัฐบาลไทยก็ไม่เบา มีความสามารถพูดคุยเจรจาปัญหาฉนวนกาซาได้ แต่เราต้องให้น้ำหนักทางปาเลสไตน์มากขึ้น เพราะเป็นฝ่ายที่สูญเสีย" เขากล่าวทิ้งท้าย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร จากศูนย์ภาพเนชั่น