กรมทางหลวงเฮ! กฤษฎีกาตีความไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มค่าผ่านทาง
กรมทางหลวงเฮ ! ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มค่าผ่านทางหลังเห็นแย้งการทางพิเศษฯ ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความไม่ได้เป็นผู้ประกอบการประกอบธุรกิจตามมาตรา 77/1 ของประมวลรัษฎากร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกพิจารณาข้อหารือเรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน ตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ.2497
บันทึกดังกล่าว ระบุว่า จากกรณีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 เห็นชอบให้หลักการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นหน่วยงานบริหารจัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง บำรุงรักษาทาง และงานกู้ภัยบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนสายวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร ให้กรมทางหลวงนำเข้าเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงและ กทพ. จึงได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. แต่จากการประชุมหารือ กรมทางหลวง และ กทพ. มีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียผ่านทางของในส่วนของกรมทางหลวง
กรมทางหลวงจึงขอหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นสำคัญ คือ การที่กรมทางหลวงอาศัยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานฯ จะมีผลให้กรมทางหลวงมีสถานะเป็นผู้ประกอบการอันจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมทางหลวงโดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลางและกรมสรรพากร) กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การที่กรมทางหลวงอาศัยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานฯ จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแล้วนำส่งกระทรวงการคลังโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ จะมีผลให้กรมทางหลวงมีสถานะเป็นผู้ประกอบการ อันจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรหรือไม่นั้น
เห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของ พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมนียมการใช้ยานต์ยนต์บนทางหลวงและสะพานฯ จะเห็นได้ว่า มาตรา 3 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้บุคคลที่ใช้ยานยนต์บนทางหลวงหรือสะพานที่มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้เก็บค่าธรรมเนียมมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยมาตรา 4 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย อีกทั้งมาตรา 7 และมาตรา 8 ก็มีบทลงโทษสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานด้วย
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวงจึงเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกรมทางหลวง ตามข้อ 2 (1) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ.2552
ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญํติของประมวลรัษฎากรแล้วก็เห็นได้ว่า แม้ว่ามาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากรจะกำหนดนิยามของคำว่า “ผู้ประกอบการ” อันจะอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มไว้อย่างกว้างขวาง แต่บุคคลที่จะเป็นผู้ประกอบการตามประมวลรัษฎากรได้นั้น จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องขายสินค้าหรือให้บริการทางธุรกิจด้วย
แต่โดยที่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ ปรากฏว่า การดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวงเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และเป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจากผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมตามกฎหมายดังกล่าวอันเป็นงานราชการ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวงจึงมิได้เข้าลักษณะที่จะเป็นธุรกิจอันจะมีผลให้กรมทางหลวงมีสถานะเป็น “ผู้ประกอบการ” ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) จึงเห็นว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานฯ ของกรมทางหลวงนั้น มิได้ส่งผลให้กรมทางหลวงมีสถานะเป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร อันจะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แต่อย่างใด” บันทึกดังกล่าว ระบุ
(อ่านบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเต็ม : http://bit.ly/UQJi7F)