ดร.สมชาย ชี้ศก.โลกฟื้น ไทยติดลบ เหตุเจอคู่แข่งปท.เกิดใหม่ แถมผลิตแต่สินค้าถูก
นักวิชากรอิสระ ทำนาย 2-3 ปีข้างหน้า ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก จะประสบความสำเร็จ ยันไทยถูกกระทบแน่ ไม่เข้าร่วมส่งออกมีปัญหา เข้ารวมคนในประเทศทะเลาะกันวุ่น
วันที่ 5 สิงหาคม ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน TU-ASEAN Week 2014 ระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคม 2557 เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 47 ปี ของการก่อตั้งอาเซียน ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กรุงเทพฯ
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยในบริบทอาเซียน:เศรษฐกิจ ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมืองควรทำมานานแล้ว แต่เราไม่ได้ทำ รวมถึงที่ทำแม้จะมีความตั้งใจดี แต่ก็ไม่แน่ใจจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่
“ประเทศไทยมาเจอปัญหาในช่วง 20 ปีมานี้เอง เนื่องจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อปี 1989 การเปลี่ยนแปลงแบบนี้คนไทยยังไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะระบบการศึกษาบ้านเราเป็นแบบ reactive พอเปลี่ยนแล้วจึงรู้ว่าเปลี่ยน จนปรับตัวไม่ทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง”
นักวิชาการอิสระ กล่าวเพิ่มเติมถึงการที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ประเทศไทยถูกกระทบ ข้อแรก คือ มีประเทศเกิดใหม่เกิดขึ้นมามากมาย ขณะที่ไทยยังผลิตสินค้าเช่นเดียวกับประเทศเหล่านี้ ทั้งผลิตสินค้าตัวเดิมๆ ใช้แรงงาน ใช้เทคโนโลยีไม่เก่ง ภาพนี้เห็นชัด ดูได้จากตัวเลขส่งออกปีนี้ติดลบ ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้น
“ข้อสอง ความมั่นคงเปลี่ยนทิศ งบประมาณในหลายประเทศทุ่มมาทางด้านการค้ามากขึ้น เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ชิลี เม็กซิโก ซึ่งคู่แข่งของไทยไม่เพียงแต่เป็นประเทศเกิดใหม่เท่านั้น ยังพัฒนาศักยภาพด้วย ยิ่งประเทศไหนไม่โกง ก็จะเจริญก้าวหน้าแบบเกาหลีใต้”
รศ.ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า ข้อสาม เกิดโลกของเทคโนโลยี ที่มาบั่นทอนศักยภาพการแข่งขัน ทำให้เกิดสินค้าแบงก์กิ้งไฟแนนซ์ ดังนั้น ประเทศที่ฉลาดเขารู้หากแข่งผลิตสินค้าระดับล่างต่อไปจะไม่มีทางแข่งกับประเทศเกิดใหม่ได้เลย ดังเช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่ไทยยังเล่นอยู่กับการผลิตสินค้าตัวเก่า แบบเก่าๆ
“วันนี้ร้านหนังสือทั่วโลกเจ๊ง เพราะผู้บริโภคหันไปซื้อหนังสือผ่านอะเมซอนดอทคอม สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังอธิบายการเปลี่ยนแปลงมหาศาล และหากรัฐบาลไหนไม่เข้าใจโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ก้าวไปข้างหน้า จะมีปัญหา รวมถึงไอทีเข้ามาสร้างความเสี่ยง เพราะโลกเชื่อมต่อถึงกัน (connectivity) ผลกระทบเกิดขึ้นได้รวดเร็ว การบริหารความเสี่ยงกลายเป็นสิ่งใหม่ไม่เคยเกิดมาก่อน”
สำหรับเรื่องการแข่งขันทางการค้า รศ.ดร.สมชาย ทำนายว่า ภายใน 2-3 ปีนี้ ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement:TPP) จะประสบความสำเร็จ และเมื่อเป็นแบบนี้ความสามารถทางการแข่งขันไทยถูกกระทบแน่นอน
“ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงมากมายกำลังรอเราอยู่ ขณะนี้หลายประเทศกำลังทำเขตการค้าเสรี ในอนาคตรัฐบาลไทย ต้องเข้าไปร่วมในความตกลง TPP แต่ก่อนเข้าไทยทะเลาะกันแน่นอน เช่น ยาจะแพงขึ้น แต่หากไม่เข้าการส่งออกไทยก็จะมีปัญหา”
นักวิชาการอิสระ กล่าวด้วยว่า หากจะปฏิรูปทางเศรษฐกิจต้องทำอะไรบ้าง แยกจากกันไม่ได้แม้กระทั่งเรื่องการศึกษา 1. เริ่มต้นต้องรู้ว่า โลกเปลี่ยนอย่างไร ทำการบ้าน รวมถึงการมีหน่วยงานวางวิสัยทัศน์ มีผู้นำที่มีกลยุทธ์สามารถเข้ามาวางทิศทางประเทศไทยได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ช่วยเราไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว จากนั้นวางจุดขายประเทศจะผลิตสินค้าใช้ต้นทุนถูกต่อไปหรือไม่ หรือจะปรับปรุงสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม ศักยภาพให้กับสินค้าที่สามารถแข่งได้ เช่น ค้าปลีก โอท็อป อาหาร รวมถึง เพิ่มการวิจัย พัฒนา และใช้เทคโนโลยี
2.ส่งเสริมสินค้าให้มีการย้ายฐานการผลิต เช่น สิ่งทอ หรือให้มีแหล่งผลิต 2 แห่ง
3. ปรับปรุงเรื่องต้นทุน สมัยก่อนเป็นต้นทุนเรื่องค่าแรง วัตถุดิบ ปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ คำว่า “คุณอยู่ในกลุ่ม หรือไม่อยู่ในกลุ่ม" ถ้าอยู่ในกลุ่ม กำแพงภาษีเป็นศูนย์ หากอยู่นอกกลุ่ม รู้หรือไม่ ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ยุโรป เสียภาษีเท่าไหร่
4. ปฏิรูประบบการศึกษา เน้นวิทยาศาสตร์ คำนวณ นวัตกรรม และการเรียนภาษาต้องมี KPI ระยะ 5 ปีที่ใช้งานได้ รวมถึงสอนเรื่องระบบคิด ส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือมากๆ โดยร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน
และ 5.กระทรวงการคลังต้องปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หนีไม่พ้น ต้องเก็บ 10% รวมถึงเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่นโยบายการเงินการคลังวันนี้ต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการคลังล่วงหน้าด้วย
|