ปฏิรูปสื่อ: โจทย์หินของสภาปฏิรูปแห่งชาติ?
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 27 กำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่น ๆ โดยให้มีสมาชิกจำนวน 250 คนจากสาขาอาชีพต่างๆ
ส่วนแนวทางที่เป็นรูปธรรมคือ ให้สภาปฏิรูปฯ ไปดำเนินการศึกษาว่า ในแต่ละด้านหรือประเด็นที่ระบุไว้ หรืออาจเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ควรจะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง และและดำเนินการปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยสงบสุข และปราศจากความขัดแย้งรุนแรงเช่นที่ผ่านๆมา
ทั้งนี้ ภายใต้โจทย์ที่ว่า ประเด็นปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อให้มีการปฏิรูปนั้น เคยเป็นปัญหาที่มีส่วนก่อให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกและพัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
หนึ่งในประเด็นที่น่าจะต้องมีการปฏิรูปและอยากหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวันนี้ก็คือ “การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน” หรือจะเรียกสั้นๆว่า การปฏิรูปสื่อ ซึ่งจริงๆแล้ว การปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่เพิ่งนำมาพูดถึงกันช่วงนี้
หากจะย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การสื่อสารมวลชนในประเทศไทย แนวคิดเรื่องการ “ปฏิรูปสื่อ” เพิ่งถูกนำมาพูดถึงอย่างจริงจังเมื่อช่วงหลังเหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองเมื่อวันที่ 17-20 พ.ค.2535 ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความรุนแรงคือ การที่รัฐบาลในขณะนั้น ใช้สื่อของรัฐ ได้แก่ วิทยุและโทรทัศน์ ในการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในลักษณะของการใส่ร้ายผู้ชุมนุมหรือบิดเบือนตัวเลขผู้ชุมนุม จนทำให้การชุมนุมขยายตัวมากขึ้นจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด
แรกเริ่มทีเดียว แนวคิดเรื่อง การปฏิรูปสื่อจึงจำกัดอยู่ที่การปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่หน่วยงานของรัฐยังผูกขาดความเป็นเจ้าของมาตลอด ภาคเอกชนเพียงเป็นผู้รับสัมปทานที่ต้องฟังคำสั่งจากหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของสัมปทานเท่านั้น ซึ่งการปฏิรูปให้ภาคเอกชน หรือชุมชนสามารถเข้าไปถือครองกรรมสิทธิ์ในคลื่นความถี่ที่ใช้ในการออกอากาศวิทยุและโทรทัศน์เพิ่งจะมาประสบความสำเร็จในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้เอง
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ที่การปฏิรูปสื่อเป็นเพียงแนวคิดและตัวหนังสือที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ตามลำดับ รัฐบาลจึงมีอำนาจในการครอบงำสื่อวิทยุและโทรทัศน์มาตลอด และไม่มีรัฐบาลใดเลย ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เพราะทุกรัฐบาล ต่างมุ่งใช้สื่อของรัฐเหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของตนเองไว้
เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเจริญก้าวหน้าขึ้น การสื่อสารด้วยเสียงและภาพวิดีโอ ไม่จำเป็นที่จะต้องกระจายออกไปโดยอาศัยคลื่นความถี่ทางด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อีกต่อไป การสื่อสารส่งสัญญาณภาพออกไปทางดาวเทียมเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเกิดสถานีโทรทัศน์ใหม่ๆ เช่นเดียวกับการรับสัญญาณสื่อระดับโลก เช่น BBC และ CNN ที่เป็นการรับสัญญาณผ่านดาวเทียมนั่นเอง
จุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่เข้ามามีบทบาทในการเป็นกระบอกเสียงของการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นในปี 2548 เมื่อมีการถอดรายการวิเคราะห์ทางการเมืองออกไปจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท จนผู้ดำเนินรายการต้องนำรายการดังกล่าวไปออกอากาศสัญจรและถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จนกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด
ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารในเดือนกันยายน ปี 2549 ได้เริ่มเกิดขบวนการต่อต้านการรัฐประหารขึ้น ก่อนจะพัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มแนวร่วมของคนเสื้อแดงเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนต้องหมดอำนาจไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคม 2552 โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลแทน พร้อมกับการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์
ในที่สุด พรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็กลับเข้ามามีอำนาจในรัฐบาลอีกครั้งในปี 2554 โดยมีพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นฝ่ายค้าน พร้อมกับการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องที่ 3 ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 จนกระทั่งเกิดการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557
เมื่อเข้าควบคุมอำนาจเรียบร้อยแล้ว คสช.ได้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองทั้ง 3 ช่องข้างต้น ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีช่องใดได้รับอนุญาตให้ออกอากาศเลย ขณะที่บางช่องได้ประกาศปิดตัวไปแล้ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเหล่านี้ มีเนื้อหารายการที่เป็นการวิเคราะห์ทางการเมืองที่ค่อนข้างเข้มข้น ตรงไปตรงมา ชนิดที่ช่องฟรีทีวีทั่วไป ไม่กล้าที่จะออกอากาศเนื้อหาในลักษณะนี้ จนกระทั่งบางครั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่เป็นห่วงว่า เนื้อหาดังกล่าว เข้าข่ายการสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ในหมู่คนไทยด้วยกัน อีกทั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานที่จะต้องเข้ามากำกับดูแลก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น เป้าหมายหลักในการปฏิรูปสื่อในความหมายของ คสช.จึงน่าจะอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร สื่อมวลชนในประเทศไทยจะทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นต้นเหตุของการสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ ในขณะที่หลักการของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยคือ สื่อจะต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ในกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ซึ่งการกำกับดูแลให้สื่อทำหน้าที่อยู่ในกรอบจริยธรรมนี้ ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ใช้ระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน
ในประเทศไทยนั้น เริ่มมีระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อเป็นครั้งแรกในปี 2540 ที่เจ้าของ บรรณาธิการและนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้มารวมตัวกันก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ถูกตั้งคำถามมาตลอดถึงประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเอง โดยไม่ต้องมีกฎหมายมาเกี่ยวข้อง
เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่สมาชิกที่เป็นองค์กรหนังสือพิมพ์ ไม่พอใจการทำหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ แล้วลาออกไป เพียงเท่านี้ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบจริยธรรมของหนังสือพิมพ์นั้นได้อีกเลย
ขณะที่การกำกับดูแลกันเองของสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้น ถูกออกแบบมาโดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ให้เป็นการกำกับดูแลร่วมระหว่างองค์กรวิชาชีพกับ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยหน้าที่ในการกำกับดูแลด้านจริยธรรมเป็นหน้าที่ที่องค์กรวิชาชีพจะต้องเข้ามาดำเนินการก่อน หากไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้ กสทช.จึงจะเข้ามากำกับดูแลแทน
โจทย์ยากจึงอยู่ที่ว่า ในเมื่อการกำกับดูแลสื่อมวลชนเรื่องจริยธรรมในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะต้องเป็นการกำกับดูแลโดยไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย โดยเน้นการกำกับดูแลกันเองโดยองค์กรวิชาชีพและใช้บทลงโทษทางสังคม ซึ่งหากสังคมไม่มีความเข้มแข็งในการเข้ามาร่วมตรวจสอบจริยธรรมของสื่อมวลชนแล้ว การกำกับดูแลกันเองย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะขาดแรงกดดันทางสังคมให้สื่อมวลชนนั้น ทำหน้าที่ในกรอบจริยธรรม
ดังนั้น การปฏิรูปสื่อสารมวลชน ตามความตั้งใจของ คสช.อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตราบใดที่สังคมยังไม่มีความตื่นตัวในการเข้ามาร่วมกันตรวจสอบจริยธรรมของสื่อมวลชน ก็เป็นการยากที่จะควบคุมให้สื่อทำหน้าที่อยู่ในกรอบจริยธรรมภายใต้การตรวจสอบกันเอง
ครั้นจะใช้วิธีทางกฎหมายเข้ามาควบคุมจริยธรรมในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนก็ย่อมเป็นอันตรายและง่ายต่อการที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ที่เป็นอิสระของสื่อมวลชน ซึ่งพิสูจน์กันมาแล้วในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายว่า ไม่ใช่วิธีที่ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การปฏิรูปสื่อมวลชนไทยในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายๆคนคิดจริงๆ...
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.ketchum.com