สมชัย สุวรรณบรรณ : จุดยืนคนทำสื่อ ใต้เงารัฐประหาร 22 พ.ค.57
"..สิทธิเสรีภาพของคนทำสื่อเปลี่ยนไป จากนี้เราจะทำงานกันแบบใด สื่อมวลชนก็รักชาติ เราก็ต้องการให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่รู้ว่าจากนี้ประเทศชาติเราจะก้าวไปแบบใด ผมเชื่อว่าการทำงานของสื่อต้องหลากหลาย ต้องสะท้อนความคิดเห็นของคนหลายๆ กลุ่มถ้าเราถูกปิดกั้น สังคมไทยก็จะถูกปิดกั้นข่าวสาร..."
ภายหลังจากที่ประชุม กสท. มีมติว่ารายการตอบโจทย์ ตอน“สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” มีมติขัด มาตรา 37 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ คือ สถานีไทยพีบีเอส ต้องเสียค่าปรับ 50,000 บาท เมื่อวันที่ 4 ส.ค.57 ที่ผ่านมา
ในวันเดียวกัน "สมมชัย สุวรรณบรรณ" ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ค้านมติดังกล่าวของ กสท.พร้อมตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น
( อ่านประกอบ ผอ.ไทยพีบีเอส ค้านมติ กสท ปรับ 5 หมื่น รายการตอบโจทย์ ตอนสถาบันฯ )
แต่มากไปกว่าเรื่องเห็นค้านมติ กสท. ดังกล่าว
ผอ.ไทยพีบีเอส ได้กล่าวถึงจุดยืนคนทำสื่อในภาวะหลังรัฐประหาร และนับจากนี้ไปด้วยเสียงที่สะท้อนว่ายังยืนหยัด กล้าที่จะบอกผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ผู้มีอำนาจต้องปล่อยให้สื่อมืออาชีพ ทำหน้าที่ของเขาไป’
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมทิ้งท้ายถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรายการ "ตอบโจทย์" ที่เกิดขึ้นเพื่อสลายความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ด้วยการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย แม้แต่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังคำแนะนำในรายงาน คอป. ที่แสวงหาแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะอย่างรุนแรงที่ราชประสงค์ในปีพ.ศ.2553
นับจากบรรทัดนี้ไป คือ สิ่งที่อยู่ในความคิด ของ "สมชัย สุวรรณบรรณ" ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและอดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน ต่อประเด็นว่าด้วยจุดยืนและเจตนารมณ์ของ "คนทำสื่อฯ"
@ จุดยืนของคุณและไทยพีบีเอสเป็นอย่างไร ในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้
สมชัย : "หลังเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 2557 สิทธิเสรีภาพของคนทำสื่อเปลี่ยนไป จากนี้เราจะทำงานกันแบบใด สื่อมวลชน ก็รักชาติ เราก็ต้องการให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้"
"ไม่รู้ว่าจากนี้ประเทศชาติเราจะก้าวไปแบบใด ผมเชื่อว่าการทำงานของสื่อต้องหลากหลาย ต้องสะท้อนความคิดเห็นของคนหลายๆ กลุ่มถ้าเราถูกปิดกั้น สังคมไทยก็จะถูกปิดกั้นข่าวสาร ความรู้ ถ้าเขารู้สึกว่าถูกปิดกั้น ขาดความน่าเชื่อถือ เขาก็ต้องไปพึ่งข้อมูลใต้ดิน หรือพึ่งข้อมูลจากต่างประเทศที่อาจจะขาดข้อเท็จจริง นี่ก็น่าเป็นห่วง"
"ผมว่า นับจากวันที่ 22 พฤษภาคม สื่อไทย หรือสื่อในประเทศไทยอยู่ในภาวะลำบาก"
@ จากนี้ มีวิธีการทำงานอย่างไร
สมชัย : "นี่ก็น่าเป็นห่วง"
"เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สื่อที่พยายามจะสะท้อนอะไรบางอย่างก็ได้พยายามกันไปแล้วนับจากนี้ ก็ต้องดูว่าสังคมไทยที่จะมีการตั้งสภาปฏิรูปสื่อด้วยนั้น จะเป็นไปในแนวไหน แบบไหน ใครจะเป็นคนมาวางกรอบ จากนี้เป็นต้นไปใครคือคนที่จะมาวิเคราะห์แนวปัญหาสังคม"
"ผมมองว่าการสะท้อนเรื่องราวที่อาจจะไปกระทบ อำนาจ ประชาชนก็อาจจะไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง ผมไม่รู้ว่าการวางกรอบปฏิรูปสื่อตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ ทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศ ผู้มีอำนาจก็ควรจะปล่อยให้สื่อมืออาชีพทำหน้าที่ของเขาไป"
@ ยังมีสิ่งใดที่อยากกล่าวถึงกรณีรายการตอบโจทย์ตอน สถาบันฯ ที่ถูก กสท.ชี้ว่า ขัด ม.37 พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียง ฯ
สมชัย : ที่ว่าเราละเมิดมาตรา 37 นั้น รายการตอบโจทย์เราทำรายการนี้ตามแนวคิดและการแนะคำของ คอป. ( คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ) ที่มีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน คือตอนที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาก ในปี พ.ศ.2553 รัฐบาลขณะนั้นก็ตั้ง คอป. ขึ้นมา ข้อแนะนำในรายงานของ คอป. ชี้ให้เห็นว่าควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจของสังคม ควรมีการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของสถาบันฯ มีการแลกเปลี่ยนหลากหลาย เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เจตนารมณ์จากที่เราทำทั้งหมด เราทำโดยสอดคล้องตามข้อแนะนำในรายงาน ของ คอป. คือ ระหว่างการปรองดองที่ทหารทำอยู่ หากเทียบกับการปรองดองของ คอป. ผมว่าหากนำแนวทางของ คอป. มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ทหารยึดอำนาจ อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะกระบวนการของ คอป. ทำให้คนที่เห็นต่าง เปิดใจเข้าหากัน และข้อแนะนำ ของ คอป เราก็นำมาใช้ เราเองก็ทำงานตรามหน้าที่ถ้าเราทำตามหน้าที่แล้ว ถ้ามีคนบอกว่า ไม่ถูก แล้วจะปล่อย ให้ประเทศไทยขัดแย้งกันต่อไป ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะเราก็พยายามแล้ว"
"หากจะปล่อยให้ประเทศไทยขัดแย้งกันต่อไป ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง นี่เป็นเรื่องที่ต้องมีแบบแผนให้ขบคิดว่าจะทำอย่างไรต่อปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสังคม ทำอย่างไรเพื่อที่จะพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งและสถาบันสูงสุดของชาติได้รับความนับถือด้วยเช่นกัน"
“หน้าที่หนึ่งของคนทำสื่อก็ต้องทำแบบนี้ไม่ใช่หรือ เพื่อที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง”
...
นี่คือจุดยืนและเจตจำนงของผอ.ไทยพีบีเอสในฐานะคนทำสื่อฯ ที่มุ่งหวังเปิดพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายเพื่อสลายความขัดแย้งของสังคม ที่อาจสวนทางกับแนวทางการปรองดองในขณะนี้!
ภาพประกอบจาก : www.megazy.com