ผอ.ไทยพีบีเอส ค้านมติ กสท ปรับ 5 หมื่น รายการตอบโจทย์ ตอนสถาบันฯ
"สมชัย สุวรรณบรรณ" ไม่ยอมรับ มติกรรมการ กสท. ซัด มีอำนาจหรือไม่-ตั้งคำถาม มติ พลโท พีระพงษ์-ผศ. ธวัชชัย ค้านความเห็นคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ฯ
จากกรณีประชุม กสท. มีมติว่ารายการตอบโจทย์ ตอน“สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” มีมติขัด มาตรา 37 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ คือ สถานีไทยพีบีเอส ต้องเสียค่าปรับ 50,000 บาท นั้น
(อ่านประกอบ : กสท เสียงแตก! ฟัน "ตอบโจทย์" ตอนสถาบันฯ ปรับไทยพีบีเอส 5 หมื่น)
ล่าสุดในช่วงเย็นวันที่ 4 ส.ค. นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ต่อกรณีดังกล่าวว่า ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดก่อนว่ามติที่ประชุม กสท. ได้เข้าสู่บอร์ดใหญ่ 12 คนของ กสทช. หรือไม่
“ดังนั้น ความเห็นผมตอนนี้ ผมขอเช็คในหลายเรื่องและต้องขอดูตามกฎหมาย” นายสมชัยระบุ
นายสมชัย ยังตั้งข้อสังเกตผลการพิจารณาของกรรมการ กสท. 5 คน ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ว่า เสียงที่ลงมติว่าให้ลงโทษไทยพีบีเอส มีเพียงแค่ 2 เสียง เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าถือเป็นที่สุดหรือไม่ เป็นข้อสรุปแล้วหรือยัง
“แต่สิ่งที่ผมอยากจะสะท้อนคือ ประการแรก คณะทำงานชุดที่กสท. ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณากรณีรายการตอบโจทย์ เพื่อจะสอบสวน หาข้อมูลรายการนี้ คณะกรรมการที่ทำงานนี้ประกอบด้วยนักวิชาการด้านสื่อ 2-3 คน นอกจากนั้น คณะทำงานดังกล่าวยังมีองค์ประกอบ ของตัวแทนจากทั้งฝ่ายความมั่นคง คือกองทัพ ตัวแทนจากอัยการ จากหน่วยงานยุติธรรม กล่าวคือคณะทำงานมีความหลากหลายในแง่ของความคิด เพราะมีทั้งตัวแทนจากด้านความมั่นคง กฎหมายและคณะทำงานชุดนี้ ไม่มีใครลงมติว่าไทยพีบีเอสผิด แล้วจากผลการลงมติวันนี้ ทำไมถึงมีการพลิกมติของคณะทำงานชุดนี้”
นายสมชัยกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่ากรรมการ กสท. ทั้ง 5 คน ยังขาดองค์ความรู้ในด้านสื่อ มีเพียงนางสาวสุภิญญา ที่เคยทำงานด้านสื่อ ขณะที่คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวน หาข้อเท็จจริงกลับมีความหลากหลายมากกว่ากรรมการ กสท.
“เพราะฉะนั้น การวินิจฉัยของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง มีความหลากหลายรอบด้านมากกว่า กรรมการ กสท. ที่มีมติผิดจากข้อสรุปของคณะทำงานอย่างชัดเจน สิ่งนี้ก็เลยเป็นประเด็นที่คาใจ นี่คือสิ่งที่ผมจะพูดในประเด็นแรก” นายสมชัยระบุ
นายสมชัยกล่าวว่า ประเด็นต่อมาที่ตั้งคำถาม คือ เรื่องการใช้อำนาจของ กรรมการ กสท และ กสทช. เพราะตนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เรื่องนี้คงจะต้องไปตีความตั้งแต่การใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของ กสทช. รวมถึงประเด็นที่กรรมการ 5 ท่าน ไม่ได้มีความหลากหลายพอที่จะมาวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับสื่อ
"กรรมการเหล่านี้มีทั้งทหาร อดีตคนทำสื่อ ก็มีเพียงแค่ คุณสุภิญญา และเรื่องที่เป็นการใช้ อำนาจ ตาม ม 37 เหมาะสมหรือไม่ ขณะที่ใน ต่างประเทศ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบแบบนี้ เมื่อมีประเด็นข้อขัดแย้งเกิดขึ้น เขาจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นำเรื่องเข้าสู่ศาล ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นสากลมากกว่า ต่างจาก กสทช. ที่อาจใช้อำนาจไม่ค่อยถูกต้อง นัก"
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพลโท พีระพงษ์ มีมติว่าควรปรับไทยพีบีเอส 5 หมื่นบาท ขณะที่ พ.ต.อ.ดร.นที ควรให้รอการตรวจสอบกรณี ม.112 นายสมชัยมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ นายสมชัยกล่าวว่า "ผมก็ตั้งคำถามกลับไปว่า คณะทำงานที่ กสท. ตั้งขึ้นมามีความหลากหลายและเรื่องนี้ผ่านการตรวจสอบ ผ่านการสอบปากคำจากหลายปาก หลายขั้นตอน กรรมการก็ค่อนข้างจะเคารพความคิดเห็นและข้อโต้แย้งของคณะทำงาน"
“นอกจาก คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา จะมีคอมเมนต์ซึ่งต่างไปจากนี้แล้ว คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของ วุฒิสภาซึ่งเราก็ไปให้ปากคำในเรื่องนี้ด้วย ก็ไม่ได้มีมติลงโทษไทยพีบีเอสเลย เพียงแต่มี จดหมายมาให้เราทำงานอย่างรอบคอบมากขึ้น ไม่ได้มีการชี้เป็นชี้ตายอย่าง 2 ท่านนี้ คณะทำงานที่ กสท. ตั้งขึ้นมาและคณะกรรมการของวุฒิสภา ก็มีตั้งหลายคน ซึ่งความเห็นไม่สอดคล้องกับทั้งพลโทพีระพงษ์และอาจารย์ธวัชชัย นี่ผมไม่ได้ มองว่าใครถูกใครผิด เพียงแต่ต้องเอาข้อมูลมาตีแผ่บนโต๊ะ"
ผู้สื่อข่าวถามกรณีพลโทพีระพงษ์ กล่าวว่า หากไทยพีบีเอสไม่เห็นด้วย ก็อาจฟ้องศาลปกครองได้ ถ้าเช่นนั้น หากถึงที่สุดแล้ว มีบทสรุปแน่ชัดว่า ไทยพีบีเอสต้องจ่ายค่าปรับ 50,000 บาท เนื่องจากเผยแพร่รายการตอบโจทน์ตอนดังกล่าว ที่ละเมิดมาตรา 37 ไทยพีบีเอสจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลไหม
นายสมชัยตอบว่า ต้องถามนักกฎหมายของไทยพีบีเอสเพราะตนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ยืนยันว่าเจตนารมณ์จากที่เราทำมาทั้งหมด ทำโดยสอดคล้องตามข้อแนะนำในรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพราะตอนที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาก รัฐบาลขณะนั้น ก็ตั้ง คอป. ขึ้นมาเพื่อแสวงหาทางแก้ไขความขัดแย้งและหาแนวทางปรองดอง ซึ่งแนวทางของความปรองดองที่ปรากฏในงานชิ้นนี้ หากนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ทหารยึดอำนาจอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้
“หน้าที่หนึ่งของคนทำสื่อก็ต้องทำแบบนี้ไม่ใช่หรือ เพื่อที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง" นายสมชัยระบุ