จุฬาฯ เผยอีก 6 ปี ไทยต้องการกำลังคนเชี่ยวชาญระบบรางสูงกว่า 3 หมื่นคน
ผอ.สวทน.ยันจะพัฒนาระบบราง ต้องเร่งสร้างคน เผยขณะนี้พัฒนาหลักสูตร นำร่องไปแล้ว 4 วิทยาลัย ฝันอยากเห็นคนไทยซ่อมบำรุง วางแผนระบบรางได้เอง แทนนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศหมด สจล.ชี้ 4 ปีหลังจากนี้ ผลิตวิศวกรระบบรางได้แค่ 200 คน
วันที่ 4 สิงหาคม 2557 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดงานเสวนา "ผ่าทางตัน...การพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้ยั่งยืนคุ้มค่าลงทุน 2.4 ล้านล้านบาท" ณ บริเวณห้องโถง สวทน. อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 14
ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง สวทน. กล่าวว่า ระบบรางเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ นอกจากจะขนส่งคนแล้ว ยังเป็นระบบที่ขนส่งความเจริญไปทั่วประเทศ ดังนั้นหากเราวางแผนให้ดีในโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยจะยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของประเทศได้
สำหรับสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เกิดความคุ้มทุนในจำนวนเงิน 2.4 ล้านล้านบาทของยุทธศาสตร์พัฒนาการคมนาคมในระยะเวลา 8 ปีนั้น ศ.ดร.วัลลภ กล่าวว่า คือการพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการปฏิรูประบบราง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงจะดูแลระบบราง ทั้งในเรื่องการวางแผนการซ่อมบำรุง ทางสวทน.จึงพยายามนำร่องที่จะให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญในเรื่องของการพัฒนากำลังคน ซึ่งในขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจและเริ่มมีหลักสูตร ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่เราได้ริเริ่มในส่วนของการพัฒนากำลังคน
"เราอยากเห็นคนไทยสามารถซ่อมบำรุง และวางแผนระบบรางได้เอง แทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งหมด และจากผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ภายในปี 2563 เราต้องการกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางสูงถึง 31,000 คน"
ดร.วัลลภ กล่าวอีกว่า นอกจากจะผลิตนักศึกษาระดับวิศวกรเข้าสู่ตลาดแรงงานด้านระบบขนส่งทางรางแล้ว เรายังมีการสร้างกำลงคนในระดับช่างเทคนิค (ปวส.) ด้วย โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมพัฒนาอาจารย์ ซึ่งในระดับปวส.ขณะนี้มีนำร่อง 4 วิทยาลัย คือวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา
ด้าน ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว อดีตรองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพัฒนาระบบราง ว่า สิ่งสำคัญคือนโยบายเนื่องจากที่ผ่านมาเรามองเรื่องนโยบายไปที่เรื่องจราจร แต่ความจริงแล้วจะต้องมองในเรื่องผังเมืองด้วย อีกทั้งหากสังเกตนโยบายที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความสะดวกสบายในการบริการประชาชน รวมทั้งจะต้องมีแผนแม่บทที่นิ่งและรอบคอบ คนที่ทำแผนต้องสามารถที่จะตอบปัญหาได้ทุกประเด็น หากแผนแม่บทนิ่งทุกอย่างก็จะสามารถดำเนินการได้ง่าย
"ส่วนเรื่องของการเลือกเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบราง สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือเราต้องการอะไร ขนอะไรไปที่ไหนจากไหน ถ้าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ระบบเทคโนโลยีจะเข้ามาเอง ไม่ใช่จะมุ่งเลือกเทคโนโลยีก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราไม่เคยใช้เทคโนโลยีได้เต็มศักยภาพ"
ขณะที่ ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ ประธานสาขาวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงการพัฒนากำลังคนว่า เราวางแผนร่วมกับสวทน.และหน่วยงานอีก 19แห่งในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่ง 4 ปีหลังจากนี้ไปเราจะมีวิศวกรในเรื่องระบบรางประมาณ 200 คน หากดูจากความต้องการก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสามารถรับนักศึกษาได้ปีละ 50 คนเท่านั้น เพราะเรายังขาดบุคคลากรที่มีความรู้และยังไม่สามารถที่พัฒนาบุคคลากรได้ทัน