'สุรจิต' เล็งฟ้องศาลปค.ระงับเเผนเเม่บทมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ
'สุรจิต' เล็งฟ้องศาลปกครอง ระงับโครงการมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ หลังเเผนเเม่บทขัดกม. ไม่ผ่านการมีส่วนร่วมปชช. ระบุชาวบ้านเดือดร้อนถูกเวนคืน "พื้นที่เกษตร ถนนขวางทางน้ำ" เเนะทางออกขยายเลนรถไฟเพิ่ม คุ้มค่าทางเศรษฐกิจกว่า
จากกรณีโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ ภายใต้งบประมาณราว 3.3 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มต้นตอนที่ 1 กม.9 ทางหลวงหมายเลข 81 บริเวณบ้านโคกพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และสิ้นสุดที่ กม.73 บริเวณถนนธนบุรี-ปากท่อ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ระยะทางรวม 63 กม.
เเละตอนที่ 2 เริ่มต้นที่ กม.73 ถนนธนบุรี-ปากท่อ และสิ้นสุดที่ กม.119 บริเวณบ้านท่าต้นโพธิ์ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ระยะทางรวม 46 กม. ทั้งนี้ ดำเนินการขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หากเเต่ที่ผ่านมากลับพบว่า มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่เเละพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนจากการเวนคืนพื้นที่
นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมุทรสงคราม กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2540 และกรมทางหลวงได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้แก่ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาพบกระบวนการอนุมัติแผนแม่บทไม่ชอบด้วยกฎหมายเหมือนกับแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
“แม้แผนแม่บทจะได้รับการอนุมัติก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แต่เมื่อเริ่มต้นดำเนินโครงการภายใต้กรอบเวลาปี 2550 จึงต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง” อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าว และว่า บริษัทที่ปรึกษาฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยความเหมาะสมแทนรัฐ นอกจากการมีหน้าที่ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อกรมทางหลวงเท่านั้น ซึ่งได้อธิบายเช่นนี้ทุกเวที
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 57 วรรค 2 ระบุว่า การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง หรือกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้ล้วนต้องมีการเวนคืนที่ดิน ที่สำคัญ รัฐจะต้องเสนอร่างขอบเขตการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) และหัวข้อการศึกษาต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ให้ความเห็นชอบด้วย
ส.ว.สุรจิต กล่าวต่อว่า การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่รัศมี 500 เมตร ตามที่บริษัทที่ปรึกษาฯ อ้างเท่านั้น แต่ยังกระทบพื้นที่อื่นอีก โดยเฉพาะ จ.ราชบุรีที่อาจถูกเวนคืนที่ดิน ซึ่งเกษตรกรทำสวนยกร่อง มีลำกระโดงล้อมรอบทุกส่วน ได้รับอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง และถูกจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเพื่อเกษตรกรรมตามผังเมืองรวม จ.ราชบุรี ซึ่งถูกให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ดีสุดในจังหวัด
"ข้อสำคัญ ด้วยกายภาพของแผ่นดินมีเทือกเขาตะนาวศรีทอดผ่านฝั่งตะวันตก เกิดสายน้ำธรรมชาติไหลลงสู่ทะเลตะวันออก การก่อสร้างถนนสายนี้จึงอาจกีดขวางทางน้ำได้ ฉะนั้น จึงมองไม่เห็นความจำเป็นของโครงการ เพราะช่วยลดระยะทางสัญจรได้เพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น"
ทั้งนี้ อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม เสนอทางออกให้พัฒนาถนนเพชรเกษมเดิม พร้อมขยายเส้นทางรถไฟหลายทางแทนการก่อสร้างถนน เพราะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า และไม่ต้องเวนคืนที่ดินอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากโครงการดำเนินต่อไปตามแผนเดิมก็จะยื่นฟ้องศาลปกครอง แต่เชื่อว่าท้ายที่สุด รัฐจะไม่มีงบประมาณก่อสร้าง
“สมมติมีเงิน 100 บาท ต้องมาคิดว่า ควรทำอะไรก่อน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความชัดเจนจะทำรถไฟทางคู่ เพราะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งนี้ ควรนำแผนแม่บทรถไฟและถนนมอเตอร์เวย์มารวมกัน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกในเวทีรับฟังความคิดเห็น”
เมื่อถามถึงผลการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ คสช. นายสุรจิต ระบุว่า ขณะนี้ได้ตอบรับกลับมาเเล้ว เเต่ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก อย่างไรก็ตาม คงรอให้ คสช.นัดเข้าไปชี้เเจงรายละเอียดของโครงการเเละผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
ภาพประกอบ:ประเชิญ คนเทศ