'ปัญหาโรงเรียนเล็ก' งานด่วน รมว.กระทรวงศึกษาฯ คนใหม่
ศธ. ดึง ศกอ. และ สอศ.ร่วมปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ เรียนจบต้องมีงานทำ- เพิ่มศักยภาพสู่สากล พร้อมสานต่อ ‘เรียนฟรี 15 ปี’ ส่วน ‘แท็บเลตฟรี’ ต้องรอครู-นักเรียนพร้อมก่อน ด้านเครือข่ายโรงเรียนเล็กยื่นข้อเสนอ ศธ. ให้ยุติการยุบ –เร่งรับแผน-ตั้งคณะกรรมการจัดการโรงเรียนเล็ก
วันที่ 15 ส.ค. 54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดแถลงข่าวเรื่องแผนยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ ที่โรงแรมรอยัลปริ้นเซส โดย นายวรภัทรกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางปฏิรูประบบการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้ผู้จบการศึกษามีงานทำ มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล มีโอกาสในการสร้างรายได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ต้องมีจิตสำนึก มีวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กัน โดยปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนออกเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มเกษตรกรรม 2. กลุ่มอุตสาหกรรม 3. กลุ่มพาณิชยกรรม 4. กลุ่มความคิดสร้างสรรค์ และ 5. กลุ่มความรู้เฉพาะทาง เช่นแพทย์ นักกฎหมาย เพื่อให้ระบบการศึกษามีทิศทางมากขึ้นโดยด้านวิชาการจะให้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ศกอ.) เข้าไปจัดการร่างหลักสูตร ส่วนด้านอาชีพจะให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้ดำเนินการ
นอกจากนี้ นายวรวัจน์ ยังกล่าวถึงโครงการแจกแทบเล็ตว่า จะต้องมีการพัฒนาครู และเด็กนักเรียนเพื่อให้มีความพร้อมก่อน โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษาอังกฤษเพื่อการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดังกล่าวได้เต็มที่ โดยจะนำร่อง ในเดือนม.ค - ก.พ. ปี 2555 ในระหว่างนี้จะเตรียมความพร้อมด้านเนื้อหาโดยให้ทาง สกอ. เป็นผู้ดูแลเนื้อหา ส่วนแท็บเลต เบื้องต้นจะให้ สอศ. เป็นผู้ประกอบตามที่แจ้งว่าสามารถประกอบได้
ผู้สื่อข่าวถามถึง โครงการเรียนฟรี 15 ปี ว่าจะยุติหรือไม่ นายวรวัจน์ ตอบว่า จะดำเนินการต่อ และจะเพิ่มเติมสิทธิด้านอื่นๆ ให้เด็กด้อยโอกาส และเด็กยากจนเป็นกรณีพิเศษ และจะพัฒนาทักษะเด็กเล็กก่อนวัยเรียน และเพิ่มการศึกษาแก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนเพิ่มงาน เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุด้วย
"อะไรที่เคยได้อยู่แล้วต้องได้ไม่น้อยกว่าเดิม ส่วนอะไรที่ยังขาดจะได้เพิ่มกว่าเดิมอย่างแน่นอน" รมว.ศธ. ย้ำชัด
ด้านนางบุญรื่น ศรีธเรศ รมต.ช่วย ศธ. กล่าวว่า ศธ.ยังแบ่งโครงสร้างระบบการบริหารงานแบบใหม่ เป็น 5 ภูมิภาคได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยผู้รับผิดชอบระดับภูมิภาคจะดูแลทั้งระบบการศึกษา ตั้งแต่มหาวิทยาลัย อาชีวะ มัธยม และประถมศึกษา จากเดิมที่เคยขึ้นตรงต่อหน่วยงานในสังกัด ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่น โดยผู้รับผิดชอบจะมีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จตั้งแต่โครงการ งบประมาณ ส่วนปัญหาอื่นๆ เช่นการร้องเรียน การฟ้องร้อง หน้าที่ของฝ่ายบริหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นมิติใหม่ ที่จะทำให้ใกล้ชิดปัญหาท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดย นางบุญรื่น เป็นผู้รับผิดชอบภาคอีสาน
ในวันเดียวกัน ที่กระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ร่วมกับ สภาการศึกษาทางเลือก จัดประชุมเรื่อง “กรอบแนวทางการบริหารจัดการแนวใหม่โรงเรียนขนาดเล็ก” โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และท้องถิ่น ด้านการจัดการศึกษาทางเลือกใน 4 ภาค เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก และเดินทางเข้าพบ รมว. ศธ. เพื่อนำเสนอแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กภายใต้การบริหารจัดการแนวใหม่ ตามโจทย์ที่สำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยวางไว้ พร้อมข้อเสนอเกี่ยวกับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนสำนักข่าวอิศราว่า ทางเครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ 1. ขอให้มีคำสั่ง ระงับ และยุติการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทันที เพราะขณะนี้ยังมีการดำเนินการในพื้นที่แม้จะมีคำสั่งจาก สพฐ. แล้ว 2. ให้พิจารณารับแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กภายใต้การบริหารจัดการแนวใหม่ และ 3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนเพื่อนำแผนไปปฏิบัติ เช่นเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการการศึกษา โดยมีรัตมนตรีเป็นประธาน โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.นี้
เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกกล่าวต่อไปว่า เชื่อว่า นายวรวัจน์ จะใช้เวลาค่อนข้างนานในการศึกษา และพิจารณาแผนฯ อย่างละเอียด เพราะยังใหม่ต่อเรื่องการศึกษา แต่ทางเครือข่ายฯ จะมาทวงถามเมื่อครบกำหนดเวลา หากยังไม่มีคำตอบ จะจัดการประชุมใหญ่ที่ศธ. อีกครั้ง และยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์การศึกษาแนวใหม่ที่ศธ.แถลงว่า เป็นแนวโน้มที่ดี ที่หันมาใช้ระบบเขตพื้นที่ในการบริหารจัดการการศึกษาโดยผู้รับผิดชอบสามารถแก้ไขปัญหาทุกเรื่องได้โดยตรง ทำให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้การเรียนการสอนมีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนมากขึ้น
แต่ไม่เห็นด้วยที่มุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันสูง เพราะการมุ่งเอาชนะ ทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง จะกลับไปสู่วงจรการศึกษาแบบเดิม ส่วนการแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็น 5 กลุ่มเห็นนั้นเห็นว่า ควรเปิดโอกาสให้เลือกตามศักยภาพอย่างเสรีและหลากหลายกว่านี้โดยเฉพาะด้าน ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม
กรณีการแจกแท็บเลต นายชัชวาลย์ กล่าวว่า แม้กระทรวงฯ จะให้เตรียมความพร้อมก่อน แต่เชื่อว่า เด็ก ป. 1 ยังไม่มีความพร้อมอย่างแน่นอน หากจะให้ควรพิจารณาในระดับมัธยมขึ้นไป และผู้ปกครองบางแห่งยังไม่มีความพร้อมเช่นกัน อาจไม่สามารถกำกับดูแลบุตรหลานได้หากใช้ในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ด้านเนื้อหาใน แท็บเลตควรมุ่งเน้นสื่อสร้างสรรค์ อาทิ หนังสือดีที่มีราคาแพง เกมฝึกภาษา เกมฝึกสมอง
นายวันชัย พุทธทอง เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคใต้ กล่าวว่า ขอให้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นไว้กับ สพฐ ก่อน และควรพิจารณาให้เสร็จภายในเดือนกันยายน เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดงบประมาณ
ด้าน อาจารย์สัมฤทธิ์ นรทีทาน นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก สนง.เขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 กล่าวว่า ข้อดีของการแบ่งเขตบริหารงานคือ ทำให้เกิดความใกล้ชิดในระดับท้องถิ่นสามารถระดมความคิดจากข้างล่างไปสู่ระดับนโยบายได้ และการปฏิรูปกลุ่มการเรียนการสอนออกเป็น 5 กลุ่มถือเป็นเรื่องดี เพราะในอดีต มุ่งเน้นแต่ผลิตนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะบางคนมีความสามารถมากในด้านช่าง หรือการเกษตร แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน