โอกาสหรืออุปสรรค “การกระจายอำนาจ” ยุคคสช.
ผลวิจัยของคณะนักวิจัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันชัด การกระจายอำนาจในรอบ 15 ปี (2540-2556) ที่ผ่านมา เป็นทิศทางที่ถูกต้อง
แม้ว่า ท้องถิ่นจะมีบทบาทและมีขีดความสามารถจำกัด แต่ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่านี้ ก็ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงชัดเจน
ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างในปัจจุบัน “นโยบายการกระจายอำนาจ” หลังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ ล่าสุด ได้รายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน แล้ว บุคคลที่ขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจมาตลอด เห็นโอกาส หรืออุปสรรค มากกว่ากัน และองค์กรไหนจะเป็นความหวังการวางรากฐานการกระจายอำนาจให้เดินไปได้ไกลมากกว่านี้...
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ผมอยากให้ สนช. ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรหรือสถาบัน ที่กำลังเข้ามาทำงานมีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ผมมองว่า สนช.ไม่ใช่ตัวตั้งต้นของประเด็นการปฏิรูป โดยเฉพาะประเด็นกระจายอำนาจ ผู้ที่มีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ คือ สภาปฏิรูปมากกว่า โดย สนช.จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบการผ่านร่างกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมาย
ผมคาดหวังให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง ใครก็ตามที่คิดว่า ต่อไปจะไม่กระจายอำนาจ คิดผิดแน่ๆ สำหรับพวกเราก็ทำหน้าที่เป็นตัวตีกลองร้องป่าวในเรื่องการกระจายอำนาจ จะผลักดันผ่านสภาปฏิรูป”
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"กฎหมายที่ต้องเร่งผลักดันด่วน คือรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อนหน้านี้ 2540,2550 มีหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่ พื้นฐานที่สุด รัฐธรรมนูญยังคงต้องรับรองสิทธิการปกครองตนเอง ต้องให้มีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ผมกังวลว่าจะมีการไปตัดออก แต่ก็มีอีกองค์กรที่เป็นความหวัง คือสภาปฎิรูป ที่จะเข้าไปสู่กันทางนโยบาย ทางความคิด กระจายอำนาจ หวังว่า สภาปฏิรูปจะมีคนท้องถิ่นเข้าไปเยอะๆ"
คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
“บทบาทจริงสำหรับการขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจจะอยู่ที่สภาปฏิรูป ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจเข้าไปทำหน้าที่มาก เพราะเป็นรากฐานที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นถ้าตรงนี้ไม่ชัดและประชาชนต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ประเทศจะล้าหลังเรื่อย ๆ แต่เมื่อใดที่ปรับเปลี่ยนให้ประชาชนดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งส่วนกลางเยอะ จะมีอิสระในการเลือกตัวแทนระดับท้องถิ่นและชาติที่เป็นเหตุเป็นผล ไม่พึ่งระบบอุปถัมภ์
ฉะนั้น จึงมองเป็นโอกาสของประเทศในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ประชาชนเข้มแข็ง ต้องเชื่อในประชาชน ประชาชนที่ดีมีจำนวนมาก แต่โอกาสที่แสดงออกไม่มี
สำหรับรายชื่อ สนช.ที่ออกมา ดูผ่านๆ ยังไม่เห็นใครเป็นตัวหลักเรื่องกระจายอำนาจ ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ “สภาปฏิรูป” สำคัญกว่า สนช. แต่ถ้าสภาปฏิรูปวางลูกผิดก็พังเหมือนกัน ถ้าตั้งลูกดีให้มีผู้รู้แต่ละเรื่องเข้ามาช่วยกันให้รัดกุม ก็จะมีประโยชน์
“สนช.ไม่ว่ากัน แต่สภาปฏิรูปถ้าเลือกไม่ดีก็น่าเสียดาย ต้องเอาคนรู้จริงทั้ง 11 เรื่องที่จะปฏิรูปมาให้ได้”
เราเรียนผิดในอดีตมาแก้ปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีในอนาคตได้ บ้านเมืองจะไปได้
“เชื่อในความปรารถนาดีของคสช.แต่ห่วงเรื่องข้อจำกัดของการรู้จักคนทุกวงการ ถ้าอยู่แต่ในกลุ่มทหารการทำเรื่องต่างๆ จะไม่กว้างพอ ฉะนั้นการที่คบหาคนที่รู้เรื่องทั้ง 11 เรื่องที่จะปฏิรูปประเทศ ให้มาช่วยกันทำงานก็จะดี สามารถสนองความตั้งใจของ คสช. ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปภายใต้เศรษฐกิจพอเพียงด้วย เพราะหากจะบ้าแต่วัตถุก็ไปไม่รอด บ้านเราต้องทำให้คนเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ให้จน”
เกือบตก! 15 ปีกระจายอำนาจ นักวิจัยให้เกรดซี เหตุ 'คน-งาน- เงิน' ไม่ไปด้วยกัน