หมอจุฬาฯ ยัน ยังไม่พบเชื้อไวรัส “อีโบลา” ในไทย เตือนอย่าตื่นตระหนก
แพทย์รพ.จุฬาฯ ยืนยันยังไม่พบคนติดเชื้ออีโบลาในไทย เหตุมีมาตรการป้องกันที่ดี เตือนคนไทยอย่าตื่นตระหนก แนะ อย่าเปิบพิศดารหรือสัมผัสสัตว์ป่า
วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลงข่าวเรื่อง "อีโบลา...เมื่อถึงไทย...รับมืออย่างไร" ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ กรุงเทพ
ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการระบาดของเชื้อไวรัส “อีโบลา” ว่า การระบาดเกิดจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นการระบาดครั้งที่ใหญ่ที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นมา จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2557 มีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 1,200 ราย และเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 60 ใน 3 ประเทศ คือ กินี สาธารณรัฐลิเบอเรีย สาธารณรัฐเซียร์ราลิโอน และ 1 รายในประเทศไนจีเรีย โดยอัตราการแพร่ระบาดได้มีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งต้นเหตุของเชื้อนั้นมีการคาดการณ์ว่ามาจากค้างคาว และลิงแอฟริกาเป็นตัวนำ
อย่างไรก็ตาม การระบาดมาสู่คนยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและยืนยันได้ว่าติดต่อมาจากทางใด แต่โรคสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการของเชื้ออีโบลาจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก เกิดภาวะเลือดออกภายในร่างกาย เชื้อจะมีระยะฟักตัว 2-21 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย การอักเสบของตับ ไต การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเสียชีวิตในที่สุด
ขณะที่ยารักษา หรือวัคซีนจำเพาะป้องกันยังไม่มีแพทย์หรือโรงพยาบาลไหนค้นพบแต่อย่างใด การป้องกันที่ดีที่สุดคือเรื่องสุขอนามัย และความสะอาด ไม่สัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เป็นต้น
“ในประเทศไทยยังไม่พบคนที่ติดเชื้ออีโบลา เพราะฉะนั้นอย่าไปตื่นตระหนก การสัมผัสกับสัตว์ป่าหรือคนที่ชอบกินเมนูพิศดารก็ไม่ควรรับประทาน ควรทานแต่อาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น การป้องกันที่ดีที่สุดต้องระวังเรื่องสุขอนามัย หรือหาความรู้ในเรื่องนี้ไว้ก็ดี” ศ.นพ.นรินทร์ กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่โอกาสที่เชื้อไวรัสดังกล่าวจะแพร่ระบาดในประเทศไทยมีน้อยมาก เพราะแม้จะเป็นโรคระบาด และมีอัตราการเสียชีวิตสูงคือ ร้อยละ 60-90 ของจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตรวดเร็ว 10-14 วัน ซึ่งเป็นรายที่รุนแรงและมีอาการชัดเจน จากอาการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ได้ ทั้งนี้การสังเกตการณ์ระบาดพบว่า การระบาดจะค่อยๆ แผ่ไปยังประเทศข้างเคียงมากกว่าจะแพร่ระบาดข้ามทวีป
ด้านการควบคุมและป้องกันโรคนั้น ศ.นพ.ยง ระบุว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมาตรการที่เข้มงวดในการคัดกรองและติดตามผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคหรือประเทศข้างเคียง เนื่องจากเชื้อไวรัสอีโบลามีระยะฟักตัวประมาณ 20 วัน และการติดเชื้อมาจากการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง เช่นน้ำมูก น้ำลาย โดยที่มีไม่มีการป้องกัน อย่างไรก็ตามการติดเชื้อนั้นไม่สามารถติดจากลมหายใจได้แน่นอน
ขณะที่การรักษายังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาโดยตรง เป็นเพียงการรักษาตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีเลือดออก ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย หากผู้ที่เดินกลับจากประเทศในกลุ่มเสี่ยง และมีอาการสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อ ให้รีบพบแพทย์ทันที
ลักษณะของเชื้อไวรัสอีโบลา (EBOLA)