"ศราวุฒิ อารีย์" ไขปมร้อนฉนวนกาซา "อิสราเอล-ฮามาส" สงครามที่ไม่สมดุล
"คนมุสลิมเขาคิดว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างคนที่เข้ามายึดครองดินแดนกับคนที่ถูกยึดครอง ไม่ได้มีสถานะเท่ากัน และคนที่ถูกยึดครองเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกกดขี่มาตลอด"
เป็นทัศนะจาก ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับปัญหาการใช้ความรุนแรงใน "ฉนวนกาซา" ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งยืดเยื้อมาร่วม 1 เดือน โดยเป็นคำอธิบายต่อข้อสงสัยของหลายฝ่ายด้วยว่าเหตุใดมุสลิมทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งในประเทศไทย จึงให้ความสนใจเหตุการณ์นองเลือดที่ฉนวนกาซากันอย่างมาก
20 ก.ค.ที่ผ่านมา พี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ชุมนุมแสดงพลังต่อต้านอิสราเอลที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี พร้อมรวบรวมเงินและสิ่งของบริจาคเพื่อส่งต่อให้กับพี่น้องปาเลสไตน์ที่เดือดร้อน
เป็นการรวมตัวกันในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งการใช้ความรุนแรงในฉนวนกาซาก็เกิดในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด โดยพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้กำหนดหมุดหมายไว้ว่า หลังเทศกาลฮารีรายอจะมีการชุมนุมแสดงพลังครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปกว่า 1,200 คนแล้ว และจำนวนไม่น้อยคือเด็กกับผู้หญิง
"ประเด็นปาเลสไตน์อ่อนไหวมากสำหรับมุสลิม เป็นประเด็นที่คนมุสลิมไม่สามารถยอมได้ ยิ่งเห็นการโจมตีของอิสราเอลแล้วต้องเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง ไม่จัดเวทีพูดคุย ก็บอยคอตสินค้าอิสราเอล หรือประท้วงหน้าสถานทูต เราห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในหมู่มุสลิมไม่ได้หรอก ให้เขาเคลื่อนไหวโดยเสรีน่าจะดีที่สุด เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการคลายความกดดันและปลดปล่อยอารมณ์ร่วม" ดร.ศราวุฒิ ระบุ
สงครามที่ไม่สมดุล
เขาอธิบายประโยคที่ยกขึ้นมาตอนต้นของบทความว่า "คนมุสลิมเขาคิดว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างคนที่เข้ามายึดครองดินแดนกับคนที่ถูกยึดครอง ไม่ได้มีสถานะเท่ากัน และคนที่ถูกยึดครองเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกกดขี่มาตลอด ฉนวนกาซาถูกปิดล้อมมา 7-8 ปี คนที่ตายจากการปิดล้อมมากเท่าไหร่ ยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) มีรายงานชัดเจน เด็กไม่มียารักษาโรค คนป่วยไม่มีอุปกรณ์รักษาพยาบาล เด็กขาดสารอาหารจำนวนมาก"
"ในแง่ความรู้สึก สื่อไทยพยายามรายงานให้บาลานซ์ (สมดุล) แต่จริงๆ แล้วไม่บาลานซ์ เช่น รายงานว่าฮามาสโจมตีด้วยอาวุธหนัก อิสราเอลก็ตอบโต้ ถือเป็นความจริงครึ่งเดียว เพราะต้องให้น้ำหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าด้วย เช่น ฉนวนกาซาถูกปิดล้อมมากี่ปี แล้วมีความเสียหายอะไรตามมา ทำไมไม่รายงานข่าว ถ้ารายงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ มุสลิมก็ยอมรับได้"
"ปาเลสไตน์"สู้ด้วยตัวเอง
ศราวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัญหาปาเลสไตน์เป็นประเด็นเชิงมนุษยธรรม คนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องให้ยุติการโจมตี เป็นคนจากทุกฝ่าย ถ้าดูข่าวต่างประเทศ จะเห็นคนอังกฤษ คนยิวในอเมริกา หรือแม้แต่คนในอิสราเอลเองก็เรียกร้องให้ยุติ เพราะรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น
"สถานการณ์ ณ วันนี้ ในมุมของผมคือ ปาเลสไตน์ซึ่งถูกแย่งดินแดนไปกำลังลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง ทั้งวิถีทางทางการทูต และวิถีทางทางการทหารอย่างฮามาส วันนี้อิสราเอลไม่ได้ต่อสู้กับใคร หรือต่อสู้กับโลกอาหรับ แต่ต่อสู้กับคนปาเลสไตน์ที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างในเอง"
ก่อนจะเป็น"รัฐปาเลสไตน์"
ศราวุฒิ อธิบายถึงสถานะของปาเลสไตน์ ซึ่งวันนี้ได้รับการรับรองเป็น "รัฐ" ไปแล้ว โดยประเทศไทยก็ให้การรับรองด้วย
"รัฐปาเลสไตน์มีดินแดน 2 ส่วนตามที่เคยตกลงกันในการเจรจาเมื่อปี ค.ศ.1993 และทำข้อตกลงสันติภาพออสโล สรุปว่าดินแดน 2 ส่วนนี้จะเป็นดินแดนรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต คือ ฉนวนกาซา กับเวสต์แบงค์ ซึ่งยูเอ็นให้การรับรอง วันนี้รัฐปาเลสไตน์ครอบคลุมดินแดนเหล่านี้ โดยเวสต์แบงค์นั้นรวมเยรูซาเล็มตะวันออกด้วย"
"กลุ่มฟาตะห์ (พรรคการเมืองของกลุ่มชาตินิยมปาเลสไตน์) ที่ปกครองในเวสต์แบงค์ ผลักดันเรื่องนี้เข้าไปในยูเอ็นเอสซี (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) แต่ถูกสหรัฐ (สมาชิกถาวรหนึ่งในห้าชาติ) ใช้สิทธิวีโต้ จึงมีการส่งเรื่องไปที่สมัชชาใหญ่ยูเอ็น เมื่อเรื่องเข้าสมัชชาใหญ่ ก็ไม่มีชาติใดใช้อำนาจวีโต้ได้ แต่เขาก็จะใช้เสียง 2 ใน 3 ถ้าเสียงผ่าน ก็จะให้ผ่านไปเลย ขั้นตอนนี้สหรัฐวีโต้ไม่ได้"
"ปรากฏว่าปาเลสไตน์ผลักดันสำเร็จ สมาชิกส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์ โดยประเทศไทยเรารับรองเป็นประเทศสุดท้าย ให้คะแนนเสียงกับปาเลสไตน์ เป็นหนึ่งใน 130 กว่าประเทศ ทำให้มติเรื่องนี้ผ่าน ปาเลสไตน์มีสถานะเป็น นอน เมมเบอร์ ออบเซิร์ฟเวอร์ สเตท เป็นรัฐสังเกตการณ์ในยูเอ็น แต่ยังไม่ใช่สมาชิกถาวร"
อิสราเอล-ฟาตะห์-ฮามาส
นอกจากปัญหาขัดแย้งกับอิสราเอลที่มีมาตลอดตั้งแต่ "ยิว" เข้ามายึดครองดินแดนแถบนี้แล้ว ช่วงหนึ่งภายในปาเลสไตน์ก็ขัดแย้งกันเองด้วย
"กลุ่มฟาตะห์ที่นำเรื่องการตั้งรัฐปาเลสไตน์เข้ายูเอ็น ปกครองในเขตเวสต์แบงค์ แต่ฉนวนกาซาปกครองโดยกลุ่มฮามาส หลังเลือกตั้งปี ค.ศ.2006 ฮามาสชนะเลือกตั้ง แต่ฟาตะห์ไม่ยอม และชาติตะวันตกหลายชาติก็ไม่ให้การยอมรับ เพราะขึ้นบัญชีฮามาสว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย จึงพร้อมใจกันกดดันฮามาส ฟาตะห์ไม่ยอมให้ตั้งรัฐบาล และเกิดสงครามกันเองในฉนวนกาซา กระทั่งฮามาสกับฟาตะห์ต้องปกครองคนละดินแดนกัน ฮามาสปกครองกาซา ขณะที่รัฐบาลฟาตะห์ปกครองในเวสต์แบงค์" ศราวุฒิ อธิบาย
อย่างไรก็ดี ภายหลังกลุ่มฟาตะห์ในเวสต์แบงค์ กับฮามาสในกาซา ก็สามารถเจรจาตกลงกันได้ว่าจะตั้่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติขึ้น ทำให้อิสราเอลไม่พอใจ พยายามกีดกันกระบวนการสร้างสันติภาพของปาเลสไตน์ทั้ง 2 ฝ่าย
"ที่ผ่านมาอิสราเอลให้ความสำคัญกับเวสต์แบงค์ ทำให้เกิดการปฏิบัติที่แตกต่าง และพยายามโดดเดี่ยวฉนวนกาซาภายใต้การนำของฮามาส หลังจากปี ค.ศ.2007 ที่ฮามาสยึดฉนวนกาซาได้ อิสราเอลได้พยายามต่อต้าน มีมาตรการปิดล้อมกาซาทั้งหมด ไม่ให้สินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปได้ง่ายๆ ส่งผลให้คนกาซามีชีวิตอย่างยากลำบาก นอกจากนั้นยังใช้กำลังโจมตีกาซา จนถึงครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว"
"ปาเลสไตน์" กับ "ข้อตกลงออสโล"
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ปาเลสไตน์ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ทั้งชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ต่างก็อ้างสิทธิเหนือดินแดนนี้โดยใช้เหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์และศาสนา จึงทำให้ปัญหาปาเลสไตน์กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับตลอดมา นับตั้งแต่การก่อตั้งรัฐอิสราเอลเมื่อปี ค.ศ.1948 ความขัดแย้งได้ขยายตัวไปสู่สงครามอาหรับ-อิสราเอลถึง 4 ครั้ง และส่งผลสู่การยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์และของประเทศอาหรับอื่นๆ
ปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) มีการทำ "ข้อตกลงออสโล" (Oslo Accords) โดย นายยัสเซอร์ อาราฟัต ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ผู้นำกลุ่มพีแอลโอ และ นายชิมอน เปเรส ประธานาธิบดีอิสราเอล ได้มีการแบ่งการปกครองดูแลปาเลสไตน์ออกเป็นส่วนๆ โดยเฉพาะเวสต์แบงค์กับฉนวนกาซาถูกแยกออกเป็นเขตการปกครอง
สถานะปัจจุบัน กลุ่มฟาตะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองปาเลสไตน์ที่มีนโยบายประนีประนอมกับอิสราเอล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำการเมืองปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) และดูแลเขตเวสต์แบงค์ ในขณะที่กลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองปาเลสไตน์หัวรุนแรง ได้คุมอำนาจการปกครองในฉนวนกาซา
ปาเลสไตน์ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิมในการต่อสู้เพื่อสิทธิและการปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์จากการยึดครองของอิสราเอล รวมทั้งนครเยรูซาเล็ม เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) มีประเทศที่รับรองรัฐปาเลสไตน์แล้ว 132 ประเทศ รวมไทยด้วย และปาเลสไตน์ได้รับรองสถานะเป็น Non member Observer State ในยูเอ็น
เสียงจาก "มุสลิมชายแดนใต้"
การรวมตัวของพี่น้องมุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แต่ละคนมาจากต่างสถานที่ ทว่ามีจุดยืนเดียวกัน
ฟาร์อิสท์ สาและ ชาวนราธิวาส บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา บอกว่า เห็นการแชร์ภาพความโหดร้ายในเฟซบุ๊ค จึงมาร่วมชุมนุมแสดงพลังเนื่องจากสงสารพี่น้องปาเลสไตน์ ภาพแต่ละภาพ คลิปแต่ละคลิปที่เห็นมันโหดร้ายมาก แต่สื่อในประเทศไทยเผยแพร่น้อย รู้สึกน้อยใจที่ประเทศมุสลิมทั้งหลายหายเงียบไปกับความเดือดร้อนของชาวปาเลสไตน์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะมุสลิมอาหรับไม่มีประเทศไหนออกมาทำอะไรเลย มีแต่มาเลเซีย อินโดนีเซียที่ส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้บ้าง
โซเฟียน ศรีตุลาการ หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม กล่าวว่า มุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องมุสลิมเหมือนกัน
"เด็กและผู้หญิงที่ปาเลสไตน์ถูกกระทำเหมือนไม่ใช่คน เป็นเหยื่อสงคราม โลกได้เห็นถึงการกระทำของอิสราเอล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สื่อที่ถูกควบคุมบอกว่าอิสราเอลทำถูก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วดินแดนตรงนั้นเป็นแผ่นดินของปาเลสไตน์ เมื่อยิวเข้ามาขอพักพิงก็ให้พำนักด้วยมนุษยธรรม แต่สุดท้ายกลายเป็นแบบนี้ ถ้าถามว่าใครถูกใครผิดต้องไปดูประวัติศาสตร์ การที่มหาอำนาจอย่างอเมริกาให้การสนับสนุนอิสราเอลทั้งที่เป็นฝ่ายผิด ก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันประณาม"
โซเฟียน บอกด้วยว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ทำให้ทุกคนต้องตระหนักว่าพี่น้องปาเลสไตน์ถือศีลอดท่ามกลางความอดอยาก แต่มุสลิมในสามจังหวัดมีกินอย่างสมบูรณ์ จึงขอให้ช่วยกันบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนที่อยู่ในฉนวนกาซา โดยจะมีการส่งต่อเงินเหล่านี้ไปให้ถึงมือพี่น้องปาเลสไตน์ และจะมีการรวมพลังครั้งใหญ่หลังรายออีกครั้ง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แผนที่ดินแดนครอบครองของรัฐปาเลสไตน์ ทั้งเวสต์แบงค์ และ กาซา
2 ดร.ศราวุฒิ อารีย์
3-4 บรรยากาศการประท้วงอิสราเอลที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี