ผู้ประกอบการยันปัจจุบันไร้เครื่องจักรรองรับ'ข้าว'ผลิตเป็นเอทานอล
สมาคมผู้ผลิตเอทานอลไทย หวั่นเอทานอลจากข้าวไม่คุ้มทุน เหตุราคาข้าวสูง อุปกรณ์ไม่พร้อม ด้านนักวิชาการพลังงงาน ยันข้าวเสื่อมผลิตเอทานอลได้ ตราบใดที่ยังคงสภาพแป้งอยู่ หวั่น หาก ปตท.ราคาท้องตลาดอาจไม่คุ้มทุน
จากการที่ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับคณะกรรมการ ปตท. ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ ปตท.จะรับซื้อข้าวเสื่อมคุณภาพ (ข่าวเน่า) ที่อยู่ในสต๊อก โครงการรับจำนำข้าว ประมาณ 1 แสนตันเพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นเอทานอล นั้น
สำนักข่าวอิศราได้พูดคุยกับนายเทียนชัย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ โดยระบุว่า การนำข้าวเน่าหรือข้าวที่เสื่อมคุณภาพมาผลิตเป็นเอทานอลนั้นสามารถทำได้ เพราะข้าวมีส่วนผสมของแป้งอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งที่เคยทำเอทานอลมา ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง หรือข้าวโพด ล้วนแต่มีส่วนประกอบของแป้งเช่นเดียวกับข้าว
ส่วนเรื่องคุณภาพของข้าวที่เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพจะมีผลกะทบต่อกระบวนการผลิต หรือส่งผลต่อคุณภาพของเอทานอลหรือไม่นั้น นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ ระบุว่า ตราบใดที่ข้าวยังมีสภาพเป็นแป้งอยู่ก็สามารถทำเอทานอลได้ ซึ่งหากปตท. จะซื้อข้าวและนำมาผลิตเป็นเอทานอลจริง ปตท. คงคัดข้าวที่จะซื้อมาก่อน เพราะถ้าเสื่อมมากก็คงไม่รับ
“ข้าวเมืองไทยไม่ได้ปลูกมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่เน้นเพื่อการบริโภค หรือทำเป็นเหล้า อย่างญี่ปุ่นก็บริโภคเหล้าที่ทำมาจากข้าวหมักอยู่แล้ว เช่น สาเกต่างๆ ดังนั้น การจะนำข้าวมาทำเอทานอลก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเอทานอล ก็คือแอลกอฮอล์ที่ใช้บริโภคได้ แต่ว่าคุณภาพไม่ได้ดีเหมือนเหล้าเวลานำมาทำเชื้อเพลิงก็ไม่ต้องระวังเท่าไหร่” นายเทียนชัย กล่าว
เมื่อถามถึงความคุ้มทุน นายเทียนชัย กล่าวด้วยว่า ต้องดูราคาข้าวที่ ปตท. ซื้อมา เพราะปัจจุบันราคาข้าวของรัฐบาลอยู่ที่ 2 หมื่นบาท/ตัน ถ้าหากซื้อตามราคาดังกล่าวก็คงไม่คุ้มทุน แต่ถ้า ปตท. ซื้อในราคาข้าวเสื่อม ปตท.ก็คงต้องไปตกลงกับกระทรวงการคลังก่อนที่จะซื้อข้าว
ด้านนายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการและประธานกลุ่มวิชาการสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลประเทศไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การนำข้าวมาผลิตเป็นเอทานอลสามารถทำได้ ข้าวก็คือแป้งชนิดหนึ่งที่สามารถมาสกัดเป็นแอลกอฮอล์ แต่ราคาจะคุ้มทุนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่ผู้ผลิตซื้อมา ซึ่งถ้าหากซื้อในราคาตามท้องตลาดปัจจุบันที่เฉลี่ยตันละ 20,000 บาท ไม่คุ้มทุนอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ค้าข้าวต้องตกลงราคาข้าวกันก่อน
"ยกตัวอย่างและเปรียบเทียบราคาต้นทุน หากนำราคาเอทานอลในปัจจุบันเป็นตัวตั้งว่า สมมุติราคาเอทานอลอยู่ที่ลิตรละ 27 บาท และการนำข้าวมาผลิตเป็นเอทานอลโดยไม่รวมราคาของวัตถุดิบและข้าวจะอยู่ที่อยู่ประมาณ 7 บาท เพราะค่าวัตถุดิบผลิตเอทานอลประมาณ 20 บาท"
รองเลขาธิการและประธานกลุ่มวิชาการสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลฯ กล่าวถึงอัตราส่วนของกระบวนการเปลี่ยนข้าวเป็นเอทานอลว่า เอทานอล 1 ลิตรจะใช้ข้าวจำนวน 2.7 กิโลกรัม ซึ่งหากเป็นตามราคาต้นทุนดังกล่าวข้าวจะต้องขายไม่เกิน 7,900 บาทต่อตัน หากแพงกว่านี้จะยิ่งทำให้ราคาเอทานอลแพงกว่า 27 บาท/ลิตร และเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคเป็นคนจ่าย
"ราคาเอทานอล จึงขึ้นอยู่กับราคาข้าวเปลือกที่ผู้ผลิตรับมาจากรัฐบาลหรือผู้ค้าข้าว หากราคาข้าวเปลือกที่รัฐซื้อมาจากประชาชนตันละ 20,000 บาท รัฐบาลจะยอมขายข้าวให้ผู้ค้าเอทานอลหรือ ปตท.ในราคา 7,900 หรือไม่ ตรงนี้คือส่วนต่างที่ต้องมีคนรับผิดชอบ เช่น หากราคาข้าวเฉลี่ยตันละ 20,000 บาท แต่รัฐขายข้าวให้ผู้ค้าตันละ 8,000 บาท คิดเป็นส่วนต่างขาดทุน 12,000 บาท และหากมีข้าวที่เสื่อมคุณภาพจำนวน 1 แสนตัน รัฐบาลจะขาดทุนถึง 1,200 ล้านบาท เพราะฉะนั้นหากคิดในแง่มุมต้นทุนการผลิตแล้วไม่คุ้มทุน หรือหากมีการผลิตจริงจะต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าชดเชยราคาขาดทุนตรงนี้ แต่ต้องไม่ใช่ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระ"
นายพิพัฒน์ กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวัถตุดิบเดิมอย่างมันสำปะหลังและกากน้ำตาลด้วย เพราะหากนำข้าวเข้ามาผลิตเป็นเอทานอลจะส่งผลต่อราคาและกลไกของวัตถุดิบเดิมอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย
สำหรับกระบวนการผลิตนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เครื่องจักรในการผลิตจะต้องดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องมือในตอนต้นก่อนจึงจะสามารถผลิตได้ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์รองรับการนำข้าวมาผลิตเป็นเอทานอล
“ถ้าหากว่าลงทุนลงไปแล้วมีข้าวแค่ไม่กี่ตัน แล้วเครื่องจักรที่ติดตั้งเข้าไปใหม่ทำใหม่ก็จะไม่คุ้มทุนเลย และหากปีหน้าไม่มีเรื่องนี้ เครื่องจักรก็จะไม่ถูกใช้ ราคาก็จะยิ่งแพงไปกันใหญ่ ไม่คุ้มทุน” รองเลขาธิการและประธานกลุ่มวิชาการสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าว