ภาคเอกชนเรียกร้องขอมีส่วนร่วม ในกระบวนการแก้กม.ของสนช.
ภาคธุรกิจเชื่อมั่น หลังคสช.บริหารประเทศมา 2 เดือน เรียกร้องแก้ไขกฎหมายใดๆ ขอมีตัวแทนเข้าร่วม ขณะที่ประธานสภาหอการค้าฯ ห่วงความไม่สงบพื้นที่ภาคใต้ ฉุดการค้าและการท่องเที่ยชะงัก
31 กรกฎาคม 2557 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดสัมมนาในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังวิกกฤตการเมือง" ณ โรงแรมสวิทโฮเทลเลอคองคอร์ด ถ.รัชดา
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และในฐานะประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีสหภาพยุโรป หรืออียูประกาศลดความสัมพันธ์กับไทยก่อนหน้านี้ รวมถึงจากการที่เคยพูดคุยกับทูตสหรัฐอเมริกา ก็ยืนยันแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องกับทางการค้า ซึ่งหากวันนี้หากรัฐบาลวางแผน และประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ให้ดี ทั้งเรื่องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง การสร้างรถไฟรางคู่ หรือการก่อสร้างรถไฟฟ้า จะได้รับความสนใจจากต่างประเทศ จ รวมถึงการให้ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะดีมากๆ
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ เนื่องจากไทยมีการขนส่งผ่านจุดนั้นเป็นจำนวนมาก หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายอาจส่งผลให้การค้าและการท่องเที่ยวเกิดการชะงักได้”
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กว่า 2 เดือน ในส่วนของภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังกังวลอยู่คือกลุ่มภาคธุรกิจจากต่างประเทศที่กำลังคิดจะลงทุนกับเราตอนนี้ กำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลใหม่
“ตอนนี้เขาเริ่มมองว่า การเมืองไทยนิ่งประเทศมีความสงบสุข ประชาชนเริ่มสบายใจ งบประมาณของรัฐก็กำลังเข้ามา แม้ในช่วงแรกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีข่าวการมีปัญหากับอียู แต่หลังจากมีการจัดงานสัมมนากับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มอียู มีการพูดคุย อธิบาย รวมถึงการออกโรดแมปที่ชัดเจนของคสช.ก็ทำให้ข่าวเรื่องความสัมพันธ์ทางธุรกิจเงียบหายไปแล้วในช่วงนี้”
อย่างไรก็ตาม นายสุพันธุ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาต่อไปในเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐต้องเข้ามาใส่ใจในเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านการค้าให้มากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์เกิดการผ่อนคลาย
“ในช่วงที่กำลังจะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกิดขึ้น ในเรื่องของการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับเอกชนนั้น อยากให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายหรือเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะบางอย่างกฎหมายธุรกิจของเราก็ล้าหลัง และทำให้เกิดความล่าช้าเวลาเอกชนจะดำเนินธุรกิจอะไรทำได้ไม่สะดวก ถ้าแก้ไขแล้ว และภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมการดำเนินการด้านธุรกิจก็จะมีประสิทธิภาพ”
ส่วนนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หากมองสถานการณ์ทางการเมืองของไทยขณะนี้เปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกจะเห็นว่า การเมืองนิ่งขึ้นและสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศได้มากขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นความแปลกของเมืองไทยในการปรับปรุงเรื่องนโยบายพื้นฐานของประเทศมักจะปรับได้ดีทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงที่มีการรัฐประหาร ดังนั้นให้มองในมุมธุรกิจ นี่ถือเป็นโอกาสที่เราจะปรับพื้นฐานของประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งก็มีทาง 2 แพร่งให้เราเลือก คือ ทางที่หนึ่งเลือกที่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบเดิมแล้วก็อัดฉีดเม็ดเงิน หรือสองเลือกที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจให้กลไกตลาดทำงานของเอง ส่วนรัฐก็เป็นเพียงผู้สนับสนุน เพราะนักธุรกิจไทยเก่งกันอยู่แล้ว
“คำถามวันนี้อยู่ที่เราจะเลือกปรับโครงสร้างในตอนที่เรากำลังแข็งแรงหรือไม่ ทางเลือกที่ 2 อาจจะช้าแต่ว่ายั่งยืนแน่นอน”