จุดชนวนสะบั้นรัก ‘หย่าร้าง’ ความเปราะบางครอบครัวไทย
'พญ.พรรณพิมล' ชี้ดาราหย่าร้างถี่มีสิทธิเเฟนคลับเลียนเเบบ เเต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักทำสถาบันครอบครัวเปราะบาง นักวิชาการระบุโลกยุคใหม่ผู้หญิงระเริงกับโอกาสทางเศรษฐกิจจนลืมมีคู่ หวั่นประชากรลดน้อยลง
ตัวเลขการหย่าร้างของคู่รักไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ด้วยคนส่วนใหญ่นิยมบริโภค ‘รัก’ ฉาบฉวย เปรียบดั่งอาหารจานด่วน ส่งผลต่อความเปราะบางกับสถาบันครอบครัวอ่อนแอลง จนสุดท้ายหลายคู่ต้องสวม ‘Converse’ เดินหันหลังให้กัน ไม่เว้นแม้กระทั่งดารานักแสดง ล่าสุด กรณี ‘เจนี่’ จรดปลายปากกา สะบั้นรัก ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์’ นักการเมืองท้องถิ่น หลังใช้ชีวิตร่วมกันแบบสายฟ้าแลบไม่ถึงปี
อีกด้านหนึ่งมีคู่รักดารา-นักการเมืองหลายคู่ที่ครองคู่กันยาวนาน มีจุดจอดที่ทะเบียนสมรสใบเดียว เช่น พุฒิพงษ์-นุสบา ปุณณกันต์, ดนุพร-สุวนันท์ ปุณณกันต์, ม.ล.อภิมงคล-นาเดีย โสณกุล, ภักดีหาญส์-มัณฑนา หิมะทองคำ หรือรุ่นเดอะอย่างพรเทพ-ปภัสรา เตชะไพบูลย์
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุ ปี 2555 มีคู่รักควงแขนจดทะเบียนสมรส 314,338 คู่ จดทะเบียนหย่า 111,377 คู่ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับตัวเลขเมื่อ 9 ปีก่อน พบว่ามีการจดทะเบียนหย่าเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2546 มีการจดทะเบียนสมรส 328,356 คู่ และการจดทะเบียนหย่า 80,886 คู่
อะไรคือสาเหตุทำให้คู่รักหย่าร้างกันมากขึ้น ‘พญ.พรรณพิมล วิปุลากร’ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีคำตอบว่า การใช้ชีวิตคู่ปัจจุบันมักมีแนวโน้มไม่ปกติ และไม่มีแรงกดดันจากสังคมให้ต้องมีคู่ แม้ความจริงจะยังคาดหวังอยู่ จึงทำให้ต้องแยกทางกัน แล้วหันไปใช้ชีวิตกับตัวเองมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถชี้วัดได้ระดับหนึ่ง เพราะความจริงยังมีคู่รักที่ไม่จดทะเบียนสมรส เเต่ได้หย่าร้างกันอีกด้วย
“ความรุนแรงในครอบครัวเป็นบ่อเกิดหนึ่งทำให้ความสำคัญการใช้ชีวิตคู่ลดลง และอาจทำให้มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งหากจัดการปัญหาในครอบครัวไม่ดีก็จะนำไปสู่การทะเลาะกัน ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และส่งผลให้เกิดความรุนแรง”
ส่วนดารานักแสดง ‘รักง่ายหน่ายเร็ว’ มีผลต่อการหย่าร้างนั้น รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุทันทีว่า “มีโอกาสเป็นไปได้” เพราะเขาเป็นบุคคลสาธารณะ ฉะนั้นมุมมองและทัศนคติจึงค่อนข้างมีผลกระทบต่อผู้ชื่นชอบเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการหย่าร้างที่เกิดขึ้น
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่อาจลุกลามในอนาคต จึงต้องหาวิธีให้คู่สมรสมีโอกาสศึกษาจัดการปัญหาของตัวเอง ก่อนเกิดความรุนแรงและนำไปสู่จุดเปราะบางจนถึงขั้นเดินแยกทางกัน นอกจากนี้ต้องสื่อสารให้รู้จักแยกแยะและมีวิจารณญาณ เพราะบางอย่างไม่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้ เช่น กรณีดารานักแสดงหย่าร้าง
“ปัจจุบันวิถีชีวิตคู่สมรสไม่ได้อยู่กับครอบครัวเดิมเหมือนสมัยก่อน ทำให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ไม่สามารถคอยดูแลครอบครัวใหม่ได้ ฉะนั้นต้องเริ่มคิดทำอย่างไรให้คู่สมรสที่อยู่ตามลำพังมีที่ปรึกษาช่วยแก้ไขปัญหาได้” พญ.พรรณพิมล ฝากเป็นโจทย์ทิ้งท้าย
‘ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์’ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าการหย่าร้างของดารานักแสดงจะส่งผลให้เกิดการเลียนแบบได้ ซึ่งการจดทะเบียนสมรสในมุมมองนั้นไม่สะท้อนอะไรในปัจจุบัน ด้วยมีคนจำนวนมากอยู่ด้วยกัน โดยไม่จดทะเบียนสมรส ฉะนั้นสถิติการจดทะเบียนจึงไม่ทำให้เห็นถึงความเป็นจริงของการครองคู่ไทย
“บางครั้งการหย่าร้างไม่ใช่มาจากความเปราะบางของชีวิตคู่ เขาเพียงไม่ต้องการจดทะเบียนสมรสตั้งแต่แรก เนื่องจากไม่มีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มต้น”
นักวิชาการ ม.มหิดล ยังแสดงความเป็นห่วงว่าการใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันจะส่งผลให้ไทยมีอัตราการเกิดต่ำลงไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 คน/1คู่ โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 คน/1คู่ และอาจส่งผลให้ประชาชนมีปริมาณลดน้อยลง ซึ่งสาเหตุจากผู้ชายมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศสภาพเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลมาก คือ ผู้หญิงมีความสนุกสนานกับโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น มีการจ้างงานที่ให้สิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย กระทั่งหลายคนสามารถดูแลตัวเองได้
การแต่งงาน คือ ความผูกพันชั่วชีวิต จึงย่อมต้องพบเจอกับอุปสรรคขวากหนาม หากไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาได้ ‘ทะเบียนหย่า’ คงเป็นตราประทับสุดท้ายในชีวิตคู่ที่จำต้องเลือก .