ดีเดย์ 24 ก.ย. 57 สธ. สั่งขยาย 10 ภาพเตือนภัยบนซองบุหรี่ 85%
บริษัทบุหรี่ตกอันดับธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม ‘พญ.ปานทิพย์’ เผยสธ. สั่งขยายภาพเตือนภัยบนซองบุหรี่ 85% ครบ 10 แบบ/1 คาร์ตอน 24 ก.ย.57 เชื่อช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่-ลดนักสูบหน้าเก่า
วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เรื่อง ‘ภาษีบุหรี่ ลดคนสูบ ลดคนตาย’ เป็นวันที่ 3
โดยในเวทีเสวนา ‘สถานการณ์บริษัทบุหรี่ฟ้องกระทรวงสาธารณสุขกรณีเพิ่มภาพคำเตือนขนาด 85%’ พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผอ.สำนักควบคุมบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยมีการติดฉลากคำเตือนข้างผลิตภัณฑ์บุหรี่ตั้งแต่ปี 2517 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่จากเดิม 55% เป็น 85% พร้อมให้มีภาพคำเตือนครบทั้ง 10 แบบ ในบุหรี่ 1 คาร์ตอน (บุหรี่ 1 คาร์ตอน มี 10 ซอง) ส่วนการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะมีผลลัพธ์อย่างไรนั้นจะต้องศึกษาวิจัยต่อไป
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการต่อสู้คดีกรณีภาคเอกชนฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุขนั้น ผอ.สำนักควบคุมบริโภคยาสูบ ระบุว่า บริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย), บริษัท บริติช อเมริกัน โทแบคโค จำกัด และสมาคมผู้ค้ายาสูบไทย ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งท้ายที่สุด ศาลได้มีคำพิพากษาคุ้มครองชั่วคราวผู้ฟ้องคดี โดยให้หยุดการบังคับใช้หลักเกณฑ์เพิ่มขนาดภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่
กระทรวงสาธารสุขจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุด และได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้สามารถบังคับใช้หลักเกณฑ์นั้นได้ต่อไป จนกว่าศาลปกครองชั้นต้นจะมีคำพิพากษาคดีหลักไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งสุดท้าย ศาลจะมีคำสั่งไปในทิศทางใดก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง
“วันที่ 24 กันยายน 2557 บุหรี่ซิกาแรตทุกชนิดที่จำหน่ายในไทย ต้องจัดพิมพ์ภาพคำเตือนชุดใหม่ขนาด 85%” พญ.ปานทิพย์ กล่าว และว่าสำหรับผลิตภัณฑ์เดิมที่ค้างสต๊อกในตลาดนั้น ได้มีการอนุโลมต่อไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นสุดการขยายระยะเวลาวันที่ 23 กันยายน 2557
เมื่อถามอีกว่า การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่จะช่วยลดจำนวนผู้สูบได้ ผอ.สำนักควบคุมบริโภคยาสูบ ยืนยันว่า ข้อมูลได้ปรากฏในงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผู้สูบบุหรี่รายใหม่ และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่รายเก่า
ด้าน Mr.Jalal Ramelan, Sustainability and Social Responsibility Strategist, Indonesia กล่าวถึงการดำเนินนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility:CSR) ของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ว่า ที่ผ่านมามีการทุ่มงบประมาณโฆษณามากกว่าบริษัทผลิตภัณฑ์อื่น จึงแสดงให้เห็นเจตจำนงหลักเพียงเพื่อโฆษณาหวังสร้างภาพให้องค์กรโปร่งใสและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2550 ได้มีการสำรวจกลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด ผลปรากฏว่า บริษัทบุหรี่เป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมน้อยที่สุด และในปี 2554 บริษัทบุหรี่กลับไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้เชี่ยวชาญให้อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเลย
“ซีเอสอาร์ คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยตระหนักในการป้องกันไม่ให้สังคมได้รับอันตรายจากธุรกิจของตัวเอง ฉะนั้นจึงไม่ใช่การบริจาคหรือกิจกรรมเพื่อการกุศล” Mr.Jalal กล่าว .