ถอดรหัส "ไฟใต้ยก2" ความรุนแรงที่ส่อแรงขึ้นกว่าเดิม
ก่อนอื่นต้องกล่าวขออภัยการนำเสนอข้อมูลของศูนย์ข่าวอิศราเกี่ยวกับเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ของ อ.เบตง จ.ยะลา ก่อนจะมีคาร์บอมบ์กลางเมืองเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.ค.57
ศูนย์ข่าวอิศรารายงานข้อมูลว่า อ.เบตง ไม่ได้เกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่กลางเมืองมาตั้งแต่ปี 2549 โดยครั้งสุดท้ายคือเหตุลอบวางระเบิดธนาคาร 6 แห่ง เมื่อเดือน ส.ค. ปี 49 ซึ่งในวันเดียวกันนั้นยังเกิดเหตุลอบวางระเบิดธนาคารอีกหลายแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง อ.เมืองยะลา
แต่ต่อมา "ศูนย์ข้อมูลมติชน" ได้นำเสนอข้อมูลอีกชุดหนึ่งว่า ยังมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่หลังจากนั้นอีกในเบตง คือ เหตุลอบวางระเบิดคาราโอเกะหลายแห่งพร้อมกันในปี 50 ซึ่งศูนย์ข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังแล้วก็เป็นไปตามที่ศูนย์ข้อมูลมติชนรายงาน ก็ต้องขออภัยในความผิดพลาดไว้ ณ ที่นี้ และต้องขอขอบคุณศูนย์ข้อมูลมติชนด้วย
ส่วนประเด็นที่ผมจะชวนคุยในวันนี้ ก็สืบเนื่องมาจากเหตุคาร์บอมบ์เบตง ซึ่งสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงไปทั่ว และกลายเป็นคำถามว่าทำไมสถานการณ์ไฟใต้ถึงยังไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่แก้ปัญหากันมานานกว่า 10 ปีแล้ว
นายทหารผู้เชี่ยวชาญปัญหาใต้จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ให้ข้อมูลน่าตกใจว่า นี่คือ "ยก 2" ของการต่อสู้โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนยุคปัจจุบัน
ยกแรกคือตั้งแต่ปี 47 กระทั่งมีการพูดคุยสันติภาพเมื่อปี 56 ซึ่งล้มไปอย่างไม่เป็นท่า จึงเปิดการต่อสู้ "ยกใหม่" ขึ้นมาลุยต่อ
การไล่ล่าสังหารผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิง และเน้นที่คนไทยพุทธ เหมือนย้อนสถานการณ์กลับไปช่วงปี 47-50 เพื่อสร้างแรงกดดันกลับไปยังรัฐบาล โดยเป็นแรงกดดันจากประชาชนกลุ่มที่มีชาติพันธุ์เดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เสียงย่อมดังกว่า เพราะดังจากทั้งประเทศ
ขณะเดียวกันก็กลับมาเน้นงานด้าน "การทหาร" จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปีเริ่มมีปฏิบัติการที่เหี้ยมโหดขึ้น ใช้วัตถุระเบิดในการโจมตีมากขึ้น รูปแบบการก่อเหตุมีความหลากหลายขึ้น การโจมตีเจ้าหน้าที่มีทั้งซุ่มยิง ลอบวางระเบิด เป้าหมายมีทั้งเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ และเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคล ขณะเดินทางเดี่ยวๆ หรือคนสองคน ถ้าเป็นแบบหลังก็ใช้วิธีซุ่มยิง
การก่อเหตุระเบิดหรือคาร์บอมบ์ แม้จะเคยเกิดมามากมายเกือบ 40 ครั้งในห้วง 10 ปีแรก หรือยกที่ 1 แต่ในยกที่ 2 มุ่งไปยังพื้นที่ปลอดภัย ให้คนรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ไหนปลอดภัยเลย แม้แต่โรงพยาบาล (มอเตอร์ไซค์บอมบ์) หรือ อ.เบตง จ.ยะลา ในชุมชนชนบท อย่างหน้าบ่อนไก่ชนที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
ด้านหนึ่งฝ่ายความมั่นคงอาจบอกว่าพื้นที่เขตเมือง รปภ.แน่นหนาจนคนร้ายเข้าไปปฏิบัติการยาก จึงเบนเป้าไปก่อเหตุพื้นที่นอกเมือง ซึ่งก็มีส่วนถูก แต่นั่นได้ส่งผลทางจิตวิทยาอย่างสูงว่าในสามจังหวัดไม่มีพื้นที่ไหนปลอดภัยอีกแล้ว
มีข่าวจากในพื้นที่ตรงกับข้อมูลของนายทหารผู้เชี่ยวชาญปัญหาใต้ว่า มีการส่งเยาวชนหรือแนวร่วมรุ่นใหม่ไปฝึกในประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่าง 2 รัฐที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย มีทั้งฝึกล็อตใหญ่หลายร้อยคนเพื่อมาเป็น "เปอมูดอ" หรือกลุ่มสนับสนุนขบวนการ และฝึกล็อตเล็กกว่า ในระดับร้อยกว่าคน มาเป็น "ทหาร" ของกลุ่มขบวนการ
นี่คือสัญญาณไม่ค่อยดีจากชายแดนใต้ และที่ไม่ดียิ่งกว่าก็คือ การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคนทำงานของฝ่ายเราเอง หลายตำแหน่ง หลายภารกิจ ผู้รับผิดชอบไม่ได้มีประสบการณ์มากพอ หนำซ้ำยังไม่ใช้เครือข่ายเก่าๆ ที่เจ้าหน้าที่รุ่นเก่าๆ วางเอาไว้
สงครามก่อการร้าย หรือก่อความไม่สงบ หากมุ่งใช้ปฏิบัติการแบบ "มองเห็นตัว" เช่น ตั้งด่านสกัดอาวุธ สกัดวัตถุระเบิด ผู้ชำนาญการบอกไม่มีวันสู้ได้ เพราะกลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวแบบปิดลับ สอดรับกับสภาพพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง ทั้งศาสนา ภาษา และวิถีชีวิต เจ้าหน้าที่กลายเป็นคนนอก คนแปลกหน้า หากไม่ใช้คนในขบวนการมาอ่านเกม หรือชี้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการ ย่อมไม่มีทางสู้ได้
แต่ละเมืองล้วนมีจุดอ่อน เพราะมีทางเข้า-ออกหลายทาง เช่น เมืองปัตตานี เมืองยะลา เส้นทางไหนมีด่าน ฝ่ายที่จ้องจะก่อการก็ไม่เข้า ดักทางอย่างไรก็ไม่มีทางสกัดได้หมด
ยิ่งไปกว่านั้น ขนาดเมืองเบตงที่เข้า-ออกทางเดียว แถมเป็นทางตันเพราะชนชายแดนมาเลเซีย แต่กลุ่มขบวนการก็ยังปฏิบัติการได้เหมือนพื้นที่อื่นๆ นี่คือความน่ากลัวของ "ไฟใต้ยก 2" ที่น่าจะดุเดือดรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนสัญญาณ "เจรจา-วางปืน" จากกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่จริงยังแทบไม่มี หนำซ้ำเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขีดกรอบไม่พูดคุยเรื่องรูปแบบการปกครองตนเองอีก นาทีนี้จึงมีแต่ "สัญญาณรบ"
เพราะในมุมมองของ "ผู้บงการ" หรือ "มาสเตอร์มายด์" นั้น ปัญหาความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรม หรือความยากจน เป็นเพียงเงื่อนไขรองที่หยิบขึ้นมาปลุกปั่นปลุกระดม แต่เงื่อนไขหลักจริงๆ คือเรื่องอำนาจและการปกครอง
ขณะที่ยุทธศาสตร์ของ คสช.ที่จะเปลี่ยนเป้าหมายการพูดคุยเจรจามาเป็นการ "คุยตรง" กับผู้ก่อการในพื้นที่ โดยมุ่งแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรม และการพัฒนานั้น แม้จะเป็นทิศทางที่น่าจะถูกต้องและผมเองก็เคยเสนอไว้ทำนองนี้ แต่ คสช.และรัฐบาลที่กำลังจะตั้งขึ้นใหม่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความรุนแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะอาจมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและเสียผลประโยชน์จำนวนไม่น้อย
แต่คำถามคือ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองปัจจุบันได้ระดมคนเก่ง-คนมีฝีมือและมีประสบการณ์เข้ามาร่วมแก้ปัญหากันจริงหรือไม่ หรือเอาแต่ "ขีดวง" เพื่อแจกตำแหน่งให้กับกลุ่มพวกตัวเอง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คาร์บอมบ์ที่เบตง