'หยาบเกินไป' คำต่อคำ ปราโมทย์ วานิชชานนท์ พูดถึงผลตรวจโกดังข้าว
“หากดูผลตรวจสอบเหมือนกับการตรวจครั้งนี้เป็นการเอาตรายางประทับความถูกต้องให้ทั้งวงการ คืออะไรผิด ผมก็ต้องบอกว่า ผิด ผิดแล้วผมก็จะบอกด้วยว่า ผิดตรงไหน”
ภายหลังจากพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ออกมาเปิดเผยหลังการประชุม นบข.ครั้งที่ 2/57 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ถึงการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบาย และคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าว รวมถึงมีการรายงานผลในการตรวจสอบปริมาณข้าวว่า ขณะนี้ได้ทำการตรวจสอบข้าวทั่วประเทศไปแล้ว 1,290 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 1,787 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ และพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีและถูกต้อง มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไม่ตรงกับที่แจ้งไว้และเสื่อมคุณภาพ
ต่อประเด็นดังกล่าว สำนักข่าวอิศราไม่รีรอรีบต่อสายตรงถึงนายปราโมทย์ วานิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย เพื่อให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งว่า การตรวจสอบสต๊อคข้าวในโกดังกว่าพันแห่งของคสช.นั้น บอกอะไรกับสังคมได้บ้าง
@ มีมุมมองอย่างไรกับผลการตรวจโกดังข้าวในครั้งนี้ ที่ใกล้จะจบสิ้นกระบวนการแล้ว มีความเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหน
การสุ่มตรวจแบบนี้ เขาเรียกเป็นการสุ่มแบบหยาบๆ ไม่สามารถเอามาสร้างมาตรฐานอะไรได้
@ แล้วพ่อค้าเอกชนเขาตรวจคุณภาพข้าวกันแบบไหน
พ่อค้าเขาจะดูกันกระสอบต่อกระสอบ จะไม่มีการเหมาไปทั้งหมด แล้วการตรวจของเราคือแทงทะลุตั้งแต่ต้นกระสอบ กลางกระสอบ ยันท้ายกระสอบ
@ แสดงว่าการสุ่มตรวจข้าวครั้งนี้ของคสช.ไม่สามารถสร้างความมั่นใจหรือตอบโจทย์ให้กับกลุ่มของพ่อค้าได้เลย?
ใช่! การตรวจสอบวันนี้ไม่สามารถยืนยันความเป็นมาตรฐานได้ แต่การตรวจครั้งนี้กลับเป็นเหมือนการตอบโจทย์ว่า "ไม่มีการทุจริต" ซึ่งการตรวจจริงๆ จะต้องมีความละเอียดอ่อนมากกว่านี้ การตรวจแบบนี้เหมือนเป็นการตรวจสอบคร่าวๆ พิสูจน์ความทุจริตหรือสุจริตอะไรไม่ได้เลย
@ พอแนะนำได้หรือไม่ คสช.ต้องใช้วิธีไหนที่ง่ายในการตรวจสอบและดูเป็นมาตรฐานสากล
ใช้วิธีการขนย้ายทั้งโกดัง
สมมติมี 100 กระสอบขนออกมาให้หมดแล้วให้เอกชนคัด ถ้าเสียหายจนกระทั่งคนกินไม่ได้ต้องเอาไปทำอย่างอื่น ก็ต้องให้อีกราคาหนึ่ง ถ้าทำแบบนี้เราจะรู้ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เราจะหาเจอ ตั้งแต่จำนวนของข้าว คุณภาพข้าว แล้วไล่ทำแบบนี้ไปทุกโกดัง ไม่ใช่ตรวจแบบที่ทำอยู่แล้วแทนค่าทั้งหมด 18 ล้านตัน แบบนี้เราจะหลงทาง
หากทำอย่างที่บอกจะเป็นวิธีการตรวจสอบที่ยุติธรรมทั้งในส่วนของรัฐ พ่อค้าที่มาซื้อ ผู้บริโภคข้าว การซื้อขายในตลาด คือเป็นวิธีการที่ให้ความเป็นธรรมที่สุด
@ แสดงว่าวิธีที่บอกมา เอามาใช้พิสูจน์ความสุจริตหรือทุจริต และหาตัวคนรับผิดชอบได้แน่
วิธีการที่เราให้เอกชนหรือพ่อค้าเขาขนย้ายออกไปทั้งโกดัง แล้วคัดว่าข้าวมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพแทนการให้เหมาซื้อทั้งหมดนั้น จะช่วยตัดตอนการทุจริตได้ เพราะเราจะรู้จำนวนข้าวด้วยว่า ข้าวในโกดังนี้มีครบหรือไม่ครบ แล้วคุณภาพข้าวเสื่อมหรือไม่ ถ้าเสื่อมเสื่อมเพราะอะไรมีการขโมยข้าวดีออกไปหรือไม่ แล้วเราก็จะหาคนรับผิดชอบได้
"ในสัญญาแต่ละโกดังจะบอกอยู่ว่า ใครต้องรับผิดชอบ วิธีคิดแบบนี้สื่อมวลชนเองก็จะได้ไม่หลงทาง"
@ จากข่าวที่ออกตามสื่อ หมายความว่า คนกำลังหลงทาง?
ตอนนี้อาจจะหลงทาง เพราะหากดูผลจากการตรวจสอบเหมือนกับการตรวจครั้งนี้ เป็นการเอาตรายางประทับความถูกต้องให้ทั้งวงการ คือ อะไรผิดผมก็ต้องบอกว่าผิด ผิดแล้วผมก็จะบอกด้วยว่า ผิดตรงไหน
ดังนั้น วิธีการตรวจที่แนะนำ คือ การให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย วันนี้ผมเพียงอยากจะชี้ช่องให้กับทางคสช.
@ ถ้าอย่างนั้นคสช.ควรจะทำอย่างไร
คสช.ต้องวางกฎกติกา คือไม่ต้องพาดพิงการเมือง ถ้าคสช.เองไม่ได้มุ่งหวังที่จะมีอำนาจจะต้องสร้างกฎกติกาให้เกิดขึ้นจะได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในอนาคตว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ประชาชนจะไม่เสียค่าโง่แบบนี้อีก
หลักเกณฑ์ง่ายๆ แค่คสช.มองอย่างตรงไปตรงมา ใครดีชั่วก็มาพิสูจน์กัน ดีอย่าไปรังแก ไม่ดีต้องรับผิดชอบ เนื่องจากประเทศเสียค่าโง่กับการบริหารจัดการมามากพอแล้ว
ที่สำคัญคือจะปล่อยให้คนผิดลอยนวลอีกไม่ได้ แล้วข้าวหาย ข้าวเสื่อมต้องมีการระบุถึงความรับผิดชอบ ซึ่งหากคสช.วางหลักให้เป็นมาตรฐานจะได้บอกว่า ราชการต่อไปอย่าหวังที่จะมานั่งเก็บข้าวอีกต่อไป อะไรที่ทำไม่ได้ก็ให้เอกชนดูแล
ขอบคุณภาพจากกรุงเทพธุรกิจ