นพ.หทัย หนุนใช้ยาขนานเอก 'ขึ้นภาษีบุหรี่' ยันทำทั่วโลกผู้สูบลด 42 ล้านคน
สธ.เผยคนไทยตายจากการสูบบุหรี่ 5 หมื่นคน/ปี หนุนเพิ่มราคาหวังลดจำนวนผู้สูบ สรรพสามิตระบุยอดรายได้ไม่เข้าเป้าเพียง 6 หมื่นล. เตรียมชงก.คลังปฏิรูปใช้เก็บภาษีราคาขายปลีก
วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เรื่อง ‘ภาษีบุหรี่ ลดคนสูบ ลดคนตาย’ ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายณัฐกร อุเทนสุต ผอ.สำนักงานแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันการปรับโครงสร้างภาษียาสูบว่า ตั้งแต่ไทยมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 โดยนำวิธีจัดเก็บตามมูลค่าจากเดิม 85% เป็น 87% และให้จัดเก็บตามปริมาณ 1 บาท:1กรัม (บุหรี่ 1 มวน มีปริมาณ 1 กรัม) ฉะนั้นบุหรี่ 1 ซอง มี 20 มวน รัฐได้รับภาษีอย่างน้อยซองละ 20 บาท แต่ความเป็นจริงกลับได้รับเพียงซองละ 14 บาท เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตใช้กลวิธีลดปริมาณยาเส้น ทำให้ไทยมีรายได้จากภาษีบุหรี่เพียง 6 หมื่นล้านบาท
ผอ.สำนักงานแผนภาษี กล่าวถึงทิศทางในอนาคตนั้น กระทรวงการคลังได้เตรียมการปฏิรูปกฎหมายเปลี่ยนฐานภาษีจากราคาหน้าโรงอุตสาหกรรมบวกอากรเป็นฐานราคาขายปลีกแทน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนฐานจะทำให้เรามีเครื่องมือที่ค่อนข้างเป็นธรรม โดยทุกคนจะเสียภาษีเท่าเทียมกันในราคาขายปลีก ทั้งนี้ นโยบายหลักอื่นขอให้เป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลชุดต่อไป
เมื่อถามถึงการจัดเก็บภาษีสิ่งเทียมบุหรี่และยาเส้น นายณัฐกร ระบุว่า กรณีการจัดเก็บภาษีสิ่งเทียมบุหรี่ เช่น บารากู่ บุหรี่เทียม ไม่สามารถจัดเก็บได้ เพราะไม่ได้ทำจากใบยาสูบ ยกเว้นต้องแก้ไขกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งเทียมบุหรี่ปัจจุบันผิดกฎหมายอยู่แล้ว โดยห้ามนำเข้าและจำหน่าย ฉะนั้นหากให้มีการจัดเก็บภาษีจะต้องทำให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ซึ่งอาจจะส่งผลเสียให้เกิดการชักจูงใช้มากขึ้น
ส่วนใบยาเส้นได้มีการขึ้นภาษีแล้ว 10 เท่า เมื่อปี 2555 ทำให้บริษัทผู้ผลิตหนีไปใช้ยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองแทน ซึ่งกฎหมายได้ให้ข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยยอมรับในอดีตเคยมีความพยายามแก้ไขแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
ด้านนพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ราว 50,000 คน โดยเป็นผู้ชาย 43,000 คน และผู้หญิง 7,000 คน ซึ่งโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลของผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
“ต้องสนับสนุนให้มีการเพิ่มภาษีบุหรี่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการรณรงค์ที่เกิดขึ้นไม่ช่วยให้คนหยุดสูบบุหรี่ได้สำเร็จ แต่มาตรการภาษีจะช่วยสำเร็จได้ชัดเจน” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว และเชื่อว่า อนาคตการสูบบุหรี่ในกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนจะมีมากขึ้น ฉะนั้นทางที่ง่ายที่สุดคือการปรับขึ้นราคาเพื่อให้ผู้สูบบุหรี่เห็นว่า เป็นภาระ จนในที่สุดจะมีการลดและเลิกสูบบุหรี่ได้
ขณะที่นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวถึงการขึ้นภาษีบุหรี่เปรียบได้กับยาขนานเอกในการควบคุมปริมาณการสูบ โดยการเพิ่มภาษีสูงขึ้นให้ราคาเพิ่ม 10% ในไทยจะลดการบริโภคได้ถึง 8% และหากทำพร้อมกันทั่วโลกจะทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดลง 42 ล้านคน และช่วยคนไม่เสียชีวิตจากบุหรี่ 10 ล้านคน
สำหรับอุปสรรคต่อการปรับขึ้นภาษีบุหรี่นั้น ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ระบุว่า บริษัทข้ามชาติได้พยายามขัดขวางตลอดเวลา ด้วยการส่งบุคคลใกล้ชิดเข้าไปนั่งในตำแหน่งกำหนดนโยบาย เช่น กรณีนายจรญชัย ศัลยพงษ์ ผู้บริหารบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง ของวุฒิสภา ปี 2551 อีกทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการภาษีสรรพสามิต สภาหอการค้าไทย ปี 2555 ฉะนั้นเราจึงยื่นหนังสือให้ปลดออกจากตำแหน่ง
นอกจากนี้บริษัทยังให้ทุนแก่ชาวไร่ยาสูบออกมาเคลื่อนขบวนขัดขวางการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ และหลังจากมีมาตรการปรับขึ้นภาษีแล้ว บริษัทผู้ผลิตพยายามไม่ให้ขึ้นราคา เพราะไม่ให้มีผู้สูบบุหรี่ลดลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมและแก้ไขให้ได้ มิเช่นนั้นการขึ้นภาษีก็จะไม่เกิดประโยชน์และไม่เป็นยาขนานเอกกับประเทศต่อไป .