"โคทม"ค้านยุบทิ้งสป.ชี้ทำงานต่อได้แค่แก้ปม"ตั้งพวกพ้อง-ล็อคโหวต"
"โคทม อารียา"ค้านแนวคิดยุบทิ้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ยังทำงานเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ แค่แก้ปัญหาระบบสรรหา ขจัดล็อคโหวต จัดตั้งพรรคพวกขึ้นเป็นสมาชิก สาเหตุหลักทำคนตั้งใจทำงานท้อ ถอยห่าง
จากกรณีมีกระแสข่าวว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ปรากฎรายชื่อเป็นหนึ่งในองค์อิสระ ที่อยู่ในข่ายอาจจะถูกยุบทิ้ง ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 107/2557 ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลง เมื่อวันที่ 21 ก.ค.57 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาความขัดแย้งและคดีฟ้องกันกันเป็นจำนวนมากกว่า 70 คดี
เมื่อเร็วๆ นี้ นายโคทม อารียา อดีตประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่สอง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหาสำคัญในการดำเนินงานของ สป.ที่ผ่านมา คือ มีการให้สมาชิกเลือกกันเอง ทำให้สามารถล็อคโหวตได้ เช่นหากมีการกำหนดให้สามารถโหวตได้ 5 คน พรรคพวกที่จัดตั้งกันขึ้นมา ก็ได้เปรียบกลุ่มที่ตั้งใจทำงาน เพราะเมื่อรวมผลโหวตแล้วก็ทำให้กลุ่มที่จัดตั้งได้พรรคพวกตนเองขึ้นมา เมื่อการทำงานไม่ได้มุ่งเน้นที่ประโยชน์ส่วนรวมจึงส่งผลต่อบทบาทของ สป. ถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ จะได้คนทำงานจริงมาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เรื่องนี้เคยมีการส่งไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว และในนั้นก็มีคุณวิษณุ (เครืองาม) อยู่ด้วย เขาก็คงรู้ปัญหาดีอยู่แล้วว่า ถ้าจะแก้ปัญหาก็ควรไปแก้กฎหมายไม่ดีกว่าหรือ” นายโคทมระบุ
นายโคทม ยังระบุว่า ถ้าแก้ไขปัญหาเรื่องการสรรหาได้ จะได้คนทำงานจริงเข้ามาทำงานในสภา แต่ตอนนี้ ถอดใจกันไป หมด ถ้าเปลี่ยนวิธีการสรรหาได้ จะได้คนที่เหมาะสมมาจะช่วยทำประโยชน์ได้จำนวนมาก
นายโคทม ยังกล่าวด้วยว่า การจะยุบสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น คสช.อาศัยอำนาจอะไรในมาตรา 44 หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สภามีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว การอาศัยอำนาจอะไรไปยุบทิ้ง ไม่น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการฟ้องร้องของสมาชิก สป. ที่ค้างอยู่จำนวน 70 คดี และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ คสช.สั่งโละทิ้งสมาชิกในปัจจุบัน นายโคทม ตอบว่า "คดีที่ค้างอยู่ มีความซับซ้อนกว่านั้น มันมีทั้งเรื่องที่พยายามเข้ามาแทรกแซง เป็นเรื่องนี้มีความซับซ้อนมากกว่านั้น"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนปัจจุบัน เพื่อแสดงความเห็นเรื่องนี้เช่นกัน แต่นายโอกาส ระบุว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นอะไรในเรื่องนี้ได้ เพราะยังไม่รับทราบข้อมูลอย่างเป็นทางการ
เมื่อถามว่า ได้เห็นคำสั่ง คสช.เรื่องให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลงหรือไม่ นายโอกาส ระบุว่า ยังไม่เห็น ขอสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงาน สป.ก่อน และให้ติดต่อมาอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์หน้านี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐ
( อ่านประกอบ : ย้อนรอย"สภาที่ปรึกษาศก.สังคมฯ" 13 ปี 2 รัฐประหาร ก่อน คสช.สั่งโละทิ้ง )