“ธิดา”ชี้ปรองดองแท้จริงต้องยึดมั่นความจริง-ยุติธรรม-ประชาธิปไตย
“ธิดา” โพสต์เฟซบุ๊กชี้ปรองดองด้วยงานรื่นเริงไม่ใช่การปรองดองแท้จริง ยันไทยมีลักษณะต่างจากประเทศอื่น แต่กลับซ้ำเติมวิกฤติรุนแรงยิ่งขึ้น ยันการพัฒนาการในไทยไม่สามารถทำได้เพราะรัฐประหาร ระบุปรองดองยั่งยืนต้องยึดความจริง-ความยุติธรรม-กลไกระบอบประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ” ระบุถึงกรณีการปรองดองในสังคมไทย
นางธิดา ระบุว่า เนื่องจากมีความพยายามจัดปรองดองในรูปแบบพิธีการ งานฉลอง งานรื่นเริง ก็เป็นความพยายามที่ดูเผิน ๆ คล้ายกับว่ามีการปรองดองเกิดขึ้นสมบูรณ์แล้วในประเทศไทย แต่ผู้เขียนคิดเห็นว่านั่นไม่น่าจะใช่การปรองดองที่แท้จริง เนื่องจาก ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากประเทศอื่น ด้วยปัญหากระบวนการพัฒนาของปัญหาและวิธีแก้ปัญหาที่ผิด ๆ กลับซ้ำเติมวิกฤติปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเป็นการแยกปัญหาการปกครองระหว่างชนชั้นกับชนชั้นนำ และชนชั้นนำกับระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน
นางธิดา ระบุอีกว่า ระยะเวลาและพัฒนาการรุนแรงร้าวลึกในสังคมไทย กระทั่งการเมืองการปกครองประเทศไทยไม่สามารถดำเนินได้ปกติ เพราะมีการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นต้น นอกจากนี้ที่จำเป็นต้องพูดวิกฤตการเมืองการปกครอง เพราะเป็นส่วนสำคัญว่าประเทศนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองหรือไม่ เพราะถ้าระบบยุติธรมปกติ ระบอบการเมืองปกติยังดำเนินได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดอง ซึ่งต้องใช้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่ขัดแย้งต่อสู้ล้มตายมาสู่สังคมปกติ
“ดังนั้นเราต้องตอบคำถามว่าประเทศนี้จำเป็นต้องเข้าสู่ประบวนการปรองดองหรือไม่ ? คำตอบจึงอยู่ที่ระบบยุติธรรมและกระบวนการค้นหาความจริงสามารถดำเนินไปได้หรือไม่ ? เพราะถ้าดำเนินได้ ความขัดแย้งก็จะไม่ขยายตัวและจะคลี่คลายไปได้” นางธิดา ระบุ
นางธิดา ระบุด้วยว่า กระบวนการที่จะนำไปสู่จัดนั้นคือการปรองดองที่ยั่งยืนด้วยเนื้อหาในทัศนะผู้เขียนจึงต้องใช้ 3 เรื่องคือ ก.ความจริง ข.ความยุติธรรม ค.กลไกในระบอบประชาธิปไตย และกล่าวโดยย่อสำหรับกระบวนการปรองดองจึงต้องจัดให้มีองค์ประกอบอย่างน้อย 8 ข้อ คือ
“1.เริ่มจากความตั้งใจและทำความจริงให้ปรากฏในสังคม 2.เข้าใจและพบรากเหง้าของความขัดแย้งจริง 3.มีการไต่สวนค้นหาความจริงโดยองค์กรและกระบวนการที่ได้รับความเชื่อถือและมีความเที่ยงธรรมแท้จริง 4.สังคมตระหนักรับรู้และยอมรับความจริงทางภววิสัยไม่ใช่ความจริงตางอัตวิสัยของแต่ละฝ่าย 5.มีความตกลงร่วมกันที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีการลงโทษเฉพาะที่จำเป็นและไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง 6.มีความตกลงร่วมกันที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสร้างเป้าหมายประเทศทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอุดมการณ์ของคนในประเทศว่าเป็นอย่างไร ? โดยฉันทามติของคนทั้งประเทศ 7.มีการเยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เหมาะสม และ 8.ละเว้นการใช้อำนาจบังคับในการทำงานปรองดอง การปรองดองจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องมาจากความสมัครใจ” นางธิดา ระบุ
อ่านข้อความฉบับเต็ม : http://on.fb.me/1nI9UTp
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นางธิดา ถาวรเศรษฐ จาก facebook